วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นาดีน สโตรเซน สำเร็จได้เพราะรักการอ่าน

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

นาดีน สโตรเซน (Nadine Strossen) ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานองค์กรอเมริกันซิวิลลิเบอร์ตีส์ยูเนียน (American Civil Liberties Union หรือ ACLU) องค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีฐานสมาชิกมากกว่าห้าแสนคน ประธาน และเป็นผู้บริหารที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์องค์กร ศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดคนนี้ยังได้สร้างชื่อเสียงในฐานะ ผู้นำทางธุรกิจ ที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นักกฎหมายผู้มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังหลายฉบับ

ชีวิตในวัยเด็กของนาดีน ส่วนใหญ่หมดไปกับการอ่านหนังสือ เธอได้ชื่อว่าเป็น “หนอนหนังสือ” คนหนึ่ง แม้ว่าห้องสมุดประชาชนในเมืองของเธอ จะเป็นเพียงห้องสมุดเล็ก ๆ แต่เธอก็อ่านหนังสือทุกเล่มที่อยู่บนชั้นวางหนังสือ และเมื่ออ่านจนครบทุกเล่ม เธอก็กลับมาอ่านทั้งหมดใหม่อีกครั้ง สิ่งนี้ไม่เพียงทำให้เธอมีความรู้ในหลายสาขาวิชา แต่ยังส่งผลให้เธอได้รับการหล่อหลอม ให้มีมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่น มีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่ สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว

หนังสือเล่มโปรดของเธอคือ Les Misérables วรรณกรรมเลื่องชื่อของนักเขียนชาวฝรั่งเศสนาม วิคเตอร์ ฮูโก อัจฉริยะบุคคลผู้ใช้ปากกาเป็นอาวุธเพื่อสันติภาพ หนังสือเล่มนี้ได้สะท้อนให้เห็นความทุกข์ยากของประชาชน ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมและเท่าเทียมในสังคม แต่ในขณะเดียวกันยังได้กล่าวถึงบุคคลที่มีจิตใจที่ดีงาม และสร้างอิทธิพลให้คนอื่นหันมาทำความดีด้วย หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ ทำให้เธอหันมาสนใจเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของมนุษย์

การได้เข้าศึกษาในฮาร์วาร์ด เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หล่อหลอม ความคิด เปิดโลกกว้างให้กับ นาดีน สโตรเซน เนื่องจากเธอได้มีโอกาสพบปะกับบุคคลระดับหัวกะทิ ที่มาจากทั่วโลก ได้คลุกคลีกับคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง ได้อ่านหนังสือในห้องสมุดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ได้ค้นพบความชอบ และพัฒนาความรู้ จนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในโลกของการทำงาน

ประสบการณ์ในฮาร์วาร์ดของนาดีนนั้นมีทั้ง การเป็นนักศึกษาในวิทยาลัยแรดคริฟท์ ซึ่งจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1972 และได้รับคัดเลือกให้อยู่ในสมาคมวิชาการชื่อดัง ไพ เบต้า แคปปา (Phi Beta Kappa) นักศึกษาของวิทยาลัยกฎหมาย ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นบรรณาธิการของนิตยสารกฎหมาย ฮาร์วาร์ด ลอว์ รีวิว (Harvard Law Review) และจบการศึกษาจากวิทยาลัยแห่งนี้ ด้วยคะแนนเกียรตินิยม ในปี ค.ศ.1975

กิจกรรมที่เธอชื่นชอบ และกระทำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยนั้นคือ การมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ทั้งการเรียกร้องสิทธิสตรี การต่อต้านสงคราม การเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องเสรีภาพ ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังได้ใช้ความรู้ ความสามารถของเธอ โดยร่วมเป็นคณะทำงานด้านกฎหมายในเมืองบอสตันอีกด้วย

ภายหลังจากจบการศึกษา นาดีน ได้เริ่มต้นฝึกงานในสำนกงานกฎหมายนาน 9 ปี ก่อนผันตัวเองมาเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ของวิทยาลัยกฎหมายนิวยอร์ค (New York Law School) ในปี ค.ศ.1989 หลังจากนั้นอีก 2 ปี เธอก็ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้บริหารหญิงคนแรก และมีอายุน้อยที่สุดในองค์กรอเมริกันซิวิลลิเบอร์ตีส์ยูเนียน

ช่วงตลอดระยะเวลา 17 ปี ของการเป็นผู้บริหารองค์กร นาดีนได้สร้างผลงานจนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป และได้สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมในเรื่อง สิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็น การพูดในที่สาธารณะกว่า 200 ครั้งต่อปี การให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพของพลเมืองในสื่อมวลชนอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมมือกับอีกหลายองค์กร ในการเคลื่อนไหว ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักในหลายประเด็นของสังคม ยกตัวอย่างเช่น การต่อต้านการใช้กัญชา การเป็นสมาชิกของกลุ่มสิทธิเยาวชนแห่งชาติ (National Youth Rights Association) การเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรี (Feminists for Free Expression)

สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากชีวิตของนาดีน สโตรเซนได้ นั่นคือ ความสำเร็จอันเกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้จากการอ่าน เพราะการอ่านไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเพิ่มพูนความรู้ แต่ยังส่งผ่านพลังอันยิ่งใหญ่ ให้ผู้อ่านซึมซับ เรียนรู้และเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติตามแนวทางหรือเป้าหมาย

การอ่านเป็นการให้อาหารแก่สมอง ถ้าให้อาหารดี (อ่านสิ่งที่ดี) ให้อย่างสม่ำเสมอ สมองย่อมรับและย่อยสิ่งที่ดี ความคิดย่อมเจริญงอกงาม ถ้าให้อาหารไม่ดี (อ่านสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม) สมองก็อาจได้รับอาหารพิษ ความคิดย่อมพิกลพิการ ยิ่งถ้าไม่ได้รับอาหาร (ไม่ชอบอ่าน) รับแต่ขนมจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โทรทัศน์ เกมส์ อินเตอร์เน็ต) สมองย่อมจะขาดสารอาหาร เพราะขาดความรู้จากหนังสือที่จะนำมาคิดใคร่ครวญ อย่างเพียงพอ และจะทำให้ตายทางปัญญาในที่สุด

การอ่านมีความสำคัญมากในการกำหนดว่า อนาคตเราจะเป็นเช่นไร.. ผมได้พยายามย้ำเด็กรุ่นหลัง ให้เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือมาโดยตลอด เพราะเห็นว่าเราอ่านหนังสือกันน้อยเหลือเกิน เมื่ออ่านน้อยจึงมีโลกทัศน์แคบ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างจำกัด ขาดความสามารถในการแก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง

นอกจากนี้ ที่สำคัญกว่านั้น เราจำเป็นต้องอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ โดย…

อ่านหนังสือที่ช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ในชีวิตเรามีหนังสือ 2 ประเภทที่จะช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ประเภทที่หนึ่ง หนังสือที่ตนเองชอบ เลือกหนังสือที่ทำให้มีความสุขเมื่อได้อ่าน อาจจะเป็นหนังสือประเภทใดก็ได้ เช่น บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย และประเภทที่สอง หนังสือที่ตนเองต้องอ่าน เลือกอ่านหนังสือที่สนับสนุนสู่ความสำเร็จของชีวิต และอ่านหนังสือให้ครบถ้วนทุกด้าน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ ที่เราอยากจะพัฒนา และเพื่อจรรโลงจิตใจและ คุณธรรมให้สูงขึ้น

บริหารเวลาในการอ่าน เราควรกำหนดเวลาอย่างเฉพาะเจาะจงในการอ่านหนังสือ เช่น ในหนึ่งวันต้องตั้งเวลาสำหรับอ่าน วันละกี่นาที หนึ่งสัปดาห์จะอ่านได้กี่หน้า หนึ่งเดือนได้เท่าไร ต้องพยายามคำนวนจากหนังสือที่เราต้องอ่าน ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ลดการใช้เวลาในด้านอื่นที่ไม่จำเป็น

พัฒนาทักษะการอ่านที่มีประสิทธิภาพ โดยศึกษาเทคนิคการอ่านและฝึกทำตามเป็นประจำ อย่างน้อยต้องมีวัตถุประสงค์ในการอ่าน เพื่อทำให้การอ่านมีความหมาย โดยจับประเด็นหลักให้ได้ กำหนดวัตถุประสงค์ วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ และเก็บบันทึกความเข้าใจ อาจด้วยการจดบันทึกคำสำคัญไว้ตลอดการอ่าน หลีกเลี่ยงเวลาที่ไม่ควรอ่านหนังสือ เช่น หงุดหงิด ง่วงนอน ไม่มีสมาธิ เพราะอาจทำให้การอ่านไม่ประสบความสำเร็จ 

หากเรายังต้องการขับเคลื่อนประเทศด้วยความรู้ เราจำเป็นต้องก่อร่างนิสัยรักการอ่าน อันเป็นเสมือนการให้อาหารสมองที่ดี มีประโยชน์ และให้อาหารใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น