วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

นักเขียนรวยประเทศจึงรวย


จากสถิติการอ่านหนังสือของคนไทย ในปี 2546 พบว่า มีคนไม่อ่านหนังสือมากถึงร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมดหรือเท่ากับ 22.4 ล้านคน และในส่วนที่คนอ่านหนังสือมากกว่าครึ่งอ่านหนังสือพิมพ์รองลงมาเป็นหนังสือที่ให้ความบันเทิงเป็นหลัก ส่วนหนัง สือประเภทให้ความรู้ยังมีผู้นิยมอ่านน้อย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีวัฒนธรรมรักการอ่าน การเขียน เรามีวัฒนธรรมการพูด การฟัง หนังสือในบ้านเราจึงไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้แต่เวียดนาม คนในประเทศเหล่านี้มีนิสัยรักการอ่านมากกว่าเรา
ลองคิดดู..คนที่มีสติปัญญา มีความคิดความอ่านลึกซึ้ง อุตส่าห์ทุ่มเทเวลาและความอุตสาหะผลิตผลงานทางความคิดออกมา จัดพิมพ์เป็นหนังสือ ขายเล่มละ 200 บาท คนบอกว่าแพง เอาเงินไปซื้อเสื้อผ้าดีกว่า ตัวละ 199 บาท เหลือเงินทอนอีกตั้ง 1 บาท นี่แสดงว่าไม่เห็นคุณค่าทางปัญญา ผมลองพยายามผลักดันค่านิยมรักการอ่านให้กับคนในสังคมมาโดยตลอด อาทิ ในหนังสือกรุง เทพเมืองน่าอยู่ ผมได้นำเสนอแนวคิดว่า เราต้องพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองต้นแบบ คนมีวัฒนธรรมรักการอ่าน และได้เขียนหนัง สือสอนลูกรักเป็นนักอ่าน เพื่อส่งเสริมให้ทุกครอบครัวปลูกฝั่งวัฒนธรรมการอ่านให้ลูกหลาน
                หากคนในสังคมให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้ การเพิ่มพูนสติปัญญา แวดวงคนอ่านหนังสือจะขยายจำนวนขึ้น ส่งผลให้ตลาดเติบโตขึ้น ย่อมเป็นแรงจูงใจให้นักเขียนทุ่มเทกำลังกาย ใจ และสติปัญญา เพื่อผลิตผลงานคุณภาพออกมามากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ นักเขียนอาจจะพอมีโอกาสมีรายได้อย่างดีเหมือนต่างประเทศ
                เมื่อนักเขียน มีสิทธิรวย สิ่งที่ตามมาคือ การแข่งขันผลิตผลงานคุณภาพออกสู่ตลาด ส่งผลให้ทางเลือกหนังสือดีๆ ของผู้บริโภคย่อมมีเพิ่มขึ้น และเมื่อผู้อ่านบริโภคหนังสือดี มีคุณภาพ สิ่งที่จะได้เกิดขึ้น คือ คุณภาพทางปัญญาของคนในประเทศย่อมได้รับการยกระดับขึ้น ส่งผลให้โอกาสที่เราจะก้าวให้ทันประชาคมโลกย่อมเป็นไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งความเอื้ออาทรจากรัฐบาลตลอดเวลา




Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น