Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
ไมเคิล แมคโคบี (Michael Maccoby) นักจิตวิทยาวิเคราะห์ นักมานุษยวิทยา ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาภาวะผู้นำในองค์กรระดับโลกหลายแห่ง เจ้าของงานเขียน 12 เล่ม ผู้ก่อตั้ง ผู้บริหาร ที่ปรึกษา สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมุนษย์ ใน 26 ประเทศทั่วโลก
ชีวิตส่วนใหญ่ของ แมคโคบี คลุกคลีอยู่ในแวดวงด้านวิชาการ และมีโอกาสพบปะกับกลุ่มคนที่มีความสนใจที่หลากหลาย ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนให้เขามีความเข้าใจในความแตกต่างของแต่ละบุคคล และสามารถนำแนวคิดเหล่านั้น ประยุกต์ใช้ในการทำงานของตนเอง
ความเข้าใจในความแตกต่าง และหลากหลายของบุคคลล ซึ่งเป็นความรู้ที่ ไมเคิล แมคโคบี นำไปใช้เพื่อการทำวิจัยและพัฒนางานของตนนั้น ถูกก่อร่างขึ้นตั้งแต่เขายังเป็นวัยรุ่น โดยเมื่ออายุ 15 ปี ได้มีโอกาสทำงานในองค์กร ที่คนหลายศาสนาทำงานร่วมกัน เช่น คริสต์ มุสลิม และยิว รวมถึงประสบการณ์ในฮาร์วาร์ด ที่สอนให้เขาเข้าใจและอยู่ร่วมกับคนที่มีความแตกต่าง
ชีวิตในรั้วฮาร์วาร์ด มีส่วนเสริมสร้างทักษะหลายประการให้แก่ นักจิตวิทยาวิเคราะห์ชื่อดังคนนี้ ทั้งทักษะด้านวิชาการ ผ่านการเรียนที่เข้มข้น ทักษะด้านสังคม ที่เขาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วม กับเพื่อนนักศึกษา ที่มาจากหลายประเทศ และทำงานร่วมกับผู้อื่นในฐานะประธานของหนังสือพิมพ์ฮาร์วาร์ดคริมสัน
ชีวิตในฮาร์วาร์ดได้เปิดโอกาสให้ ไมเคิล แมคโคบี ได้พบปะกับบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งการเรียน การทำงานร่วมกัน และเป็นสิ่งที่จุดประกายความสนใจศึกษาด้านปรัชญา จิตวิทยา และมานุษยวิทยา ซึ่งเขาจบการศึกษาปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยม ในปี ค.ศ.1945 และในปี ค.ศ.1960 จบปริญญาเอก ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relations) อันเป็นการเรียนการสอนที่ผนวกความรู้ด้านจิตวิทยา บุคลิกภาพและมานุษยวิทยาเข้าด้วยกัน
ระหว่างที่เขาศึกษาต่ออยู่นั้น ได้มีโอกาสทำงานด้านวิชาการหลายบทบาท ทั้งผู้ช่วยสอน เลขานุการคณะกรรมการด้านนโยบายการศึกษา ในคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ของฮาร์วาร์ด วิจัยร่วมกับอาจารย์ผู้สอน ไม่เพียงเท่านั้น เขายังศึกษาเพิ่มเติม และทำวิจัยในด้านมานุษยวิทยา จิตวิทยา จิตวิทยาการเมือง จากคณาจารย์ชื่อดังของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกด้วย
ความรักในการเรียนรู้ทั้งในเชิงลึก และ กว้างของ ไมเคิล แมคโคบี ส่งผลให้เขาได้รับเชิญให้เป็นนักวิจัย ผู้ฝึกสอน ที่ปรึกษา จากบุคคลดัง และบริษัทชั้นนำของประเทศหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ทีมรณรงค์หาเสียง เพื่อแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ของแมคคาทธีร์ (Eugene McCarthy) ที่ปรึกษาและผู้ฝึกอบรบด้านการทำงานอย่างมีคุณภาพให้กับบริษัทฟอร์ด ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐ และได้รับเชิญให้ไปให้ความรู้แก่ผู้แทนรัฐบาลของหลายประเทศ
นอกจากนี้งานวิจัย ด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ ในบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำ เช่น ฮิวเลตต์ แพค์การ์ด (HP) ไอบีเอ็ม (IBM) และเท็กซัส อินสตรูเม้นท์ส (Texas Instruments) ของเขา ได้กลายมาเป็นหนังสือที่ติดอันดับหนังสือขายดีและได้รับการยอมรับว่า เป็นหนังสือที่ทำให้เข้าใจถึงบุคลิคภาพและภาวะผู้นำในองค์กรธุรกิจได้เป็นอย่างดี
ไมเคิล แมคโคบี ยังได้แบ่งเวลาส่วนหนึ่งอุทิศตนให้กับการสอนเกี่ยวกับภาวะผู้นำ นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ อันเป็นการถ่ายทอดความรู้ไปสู่คนรุ่นใหม่อีกทางหนึ่ง เขาได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์ ผู้อำนวยการ ของศูนย์ศึกษา และสถาบันต่าง ๆ ของฮาร์วาร์ดและอีกหลายมหาวิทยาลัย
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 จนถึงปัจจุบัน ไมเคิล แมคโคบี เป็นนักเขียนประจำ ได้รับการยกย่อง โดย The International Association of Management of Technology (IAMOT) ให้เป็น 1 ใน 50 นักเขียนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมบริหารจัดการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
ไมเคิล แมคโคบี ได้สะท้อนความเป็นนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีลักษณะชีวิต ที่ถูกหล่อหลอมให้ รักในการแสวงหาความรู้ ทั้งในและนอกห้องเรียน เรียนรู้อย่างเป็นสหวิทยาการ รักการวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ออกสู่สังคม รวมถึงรู้จักเผยแพร่ผลงานของตนเองในหลายรูปแบบ เช่น การเขียน การสอน การบรรยาย เพื่อให้งานของตนมีประโยชน์ต่อส่วนรวมมากขึ้น
พัฒนาความรู้ มีลักษณะเป็นนักเรียนตลอดชีวิต อันนำไปสู่ การพยายามค้นหาคำตอบต่อข้อสงสัย เช่น หาในหนังสืออ้างอิง ถามผู้รู้ คิดใคร่ครวญหาคำตอบ พิจารณาบริบทที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลและคิดอย่างเป็นระบบ มองหาความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อขยายฐานความรู้ ฐานความคิด และฐานความเข้าใจให้มีความชัดเจน กว้างขวาง ถูกต้องและลึกซึ้งมากขึ้น
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ทางวิชาการ โดยการแสวงหาช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สัมมนาวิชาการ จัดตั้งชุมชนวิชาการ การประชุมกลุ่มปฏิบัติการหลังเลิกงาน ฯลฯ เพื่อจะได้มุมมองและการต่อยอดความรู้จากคนในทุกแขนงสาขาวิชาการ อันเป็นการสร้างบรรยากาศความตื่นตัวทางวิชาการ และเป็นประโยชน์ต่อการขยายองค์ความรู้
หาช่องทางประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่ไปสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และยังเป็นการบริจาคความคิดสู่สังคม เช่น เขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร วารสาร รวบรวมเป็นตำราวิชาการ หนังสือเชิงวิชาการ
ผู้เรียนและผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาการทุกคน ควรเริ่มต้นในการตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งพัฒนาตนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพและมีส่วนนำเอาความรู้ ความสามารถของตน เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ในหน้าที่การงาน บทบาท ความรับผิดชอบของเรา และมีส่วนในการสร้างสรรค์สังคมต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น