Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
ภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ และขยายวงกว้างในขั้นวิกฤตในทุกประเภทของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก เนื่องด้วยเป็นปัญหาใกล้ตัว มีผลกระทบโดยตรงต่ออุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้น ลดความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิตอาหาร อีกทั้งส่งผลต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ลดลงของคนในสังคม
ฮาร์วาร์ดเองมิได้นิ่งนอนใจในประเด็นวิกฤตสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารระดับสูงของฮาร์วาร์ด และภาคประชาคมฮาร์วาร์ดต่างเร่งระดมสรรพกำลัง และบริหารการจัดการสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย โดยฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ริเริ่มดำเนินการผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าเกือบ 10 ปี และเร่งเครื่องมากขึ้นในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่อยากจะพัฒนาให้ฮาร์วาร์ดกลายเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาและภาคปฏิบัติ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ความพยายามดังกล่าว เห็นได้จากการผลักดัน ให้มีการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการผลักดันในรูปของการประกอบเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ Harvard Green Campus Initiative (HGCI) ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.2008 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Harvard Office for Sustainability หรือ OFS มีภารกิจเป็นหน่วยงานกลางในการผลักดันการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยและชุมชนที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ร่วมกับคณะและหน่วยงานในภาคส่วนต่าง ๆ ของฮาร์วาร์ด มีเป้าหมายร่วมกันคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย ให้ได้ร้อยละ 30 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.2006 – 2016 ซึ่งนับเป้าหมายที่มีท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับฮาร์วาร์ด
ด้วยเหตุนี้ ฮาร์วาร์ดจึงได้เริ่มปฏิรูประบบต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เพื่อบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีมาตรการครอบคลุมประเด็นการรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ โดยมุ่งการพัฒนาและปรับปรุงทั้งด้านกายภาพ และด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล อาทิ
ปรับปรุงอาคารในฮาร์วาร์ดให้เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ทั้งห้องเรียน ห้องแล็ป และอาคารเก่าแก่ในมหาวิทยาลัย เช่น การควบคุมอุณหภูมิในตัวอาคาร Byerly Hall ด้วยการใช้พลังงานความร้อนจากการพลังงานไอน้ำ ซึ่งมีห้องควบคุมอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของตึก แทนการใช้เครื่องทำความร้อน การใช้ลิฟท์ในตัวอาคารที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเกียร์ การนำกระจกมาใช้เป็นส่วนประกอบของตัวอาคาร เพื่อเพิ่มปริมาณแสงสว่าง การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ต้มน้ำ รวมถึงแจกจ่ายน้ำไปตามบ้านและที่พักต่าง ๆ ภายในฮาร์วาร์ด เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ ส่งผลต่อการประหยัดพลังงานได้อย่างมากในแต่ละปี
ลดปริมาณจำนวนขยะในฮาร์วาร์ด ด้วยการใช้ระบบคัดแยกขยะและการนำกลับมาใช้ใหม่ อาทิ การใช้กระดาษรีไซด์เคิลสำหรับพิมพ์งานหรือถ่ายเอกสารในห้องสมุด การแยกขยะเปียก เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายต่อไป การรับบริจาคหนังสือเก่าที่ไม่ใช้แล้ว การลดปริมาณการใช้ขวดน้ำพลาสติก ด้วยการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพระบบการกรองน้ำในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูง ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกในเรื่องดังกล่าวนี้ ให้เกิดขึ้นในรายบุคคลอย่างต่อเนื่องและดำเนินการอย่างจริงจัง
ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและพฤติกรรมบริโภคอาหารในฮาร์วาร์ด โดยริเริ่มจัดทำสวนพืชสมุนไพรและพืชผักสวนครัวขนาดเล็กที่หลากหลาย อาทิ มะเขือเทศ ใบโหระพา เครื่องเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบการทำอาหารในฮาร์วาร์ด การดำเนินงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาหารยั่งยืน (Sustainable Dining Program) ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง Harvard Office for Sustainability กับ Restaurant Associates (RA) หรือแม้กระทั่งที่โรงเรียนกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ดเอง มีการจัดโปรแกรมเพื่อส่งเสริมสนับสนุน ให้นักศึกษาบริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งโครงการนี้ประกอบไปด้วย การให้บริการคำแนะนำเกี่ยวกับตลาดประเภทนี้และเมนูผลิตภัณฑ์รายเดือน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนักศึกษาที่สนใจ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้บริโภคอาหารประเภทเนื้อลดลง เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกช่องทางหนึ่ง
ปฏิรูประบบการขนส่งในฮาร์วาร์ด วิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในฮาร์วาร์ด มักจะใช้พาหนะในการเดินทางสัญจรไปมา ด้วยจักรยานเป็นทางเลือกหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ หากจะพบเห็นที่จอดรถจักรยานกระจายอยู่ตามบริเวณจุดต่าง ๆ ทั่วมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดรับกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัย ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันมีสาเหตุมาจากการใช้รถส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้น้ำในฮาร์วาร์ด อาทิ โครงการใช้น้ำฝนล้างรถของฮาร์วาร์ด ส่งเสริมไม่ให้นักศึกษาใช้เวลาอาบน้ำนาน และเมื่อไม่นานมานี้ ฮาร์วาร์ดได้จัดให้ติดตั้งหัวฝักบัวรุ่นประหยัดน้ำในหน่วยงานที่เรียกว่า Harvard Real Estate Services จำนวนมากกว่า 2,600 ตัว และติดตั้งหัวฝักบัวรุ่นน้ำไหลน้อยมากกว่า 6,000 ตัวในห้องครัวและห้องอาบน้ำทั่วฮาร์วาร์ด ซึ่งเชื่อว่าด้วยวิธีการดังกล่าว จะส่งผลให้ฮาร์วาร์ดสามารถประหยัดน้ำได้ถึง 28,424,000 ลิตรต่อปี
จัดอันดับสำนักงานสีเขียวในฮาร์วาร์ด เพื่อกระตุ้นให้สำนักงานต่าง ๆ กระตือรือร้นในการพัฒนาตนสู่การเป็นสำนักงานสีเขียว โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การใช้แสงสว่างจากธรรมชาติ การมีระบบระบายอากาศ คุณภาพอากาศภายนอกตัวอาคาร การใช้อ่างล้างหน้าที่มีประสิทธิภาพ และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยประหยัดน้ำ เป็นต้น
ดังตัวย่างข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมและโครงการฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวในการมีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยเอง ควรให้ความสำคัญในประเด็นรักษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เพราะมิเพียงแต่การลดการใช้พลังงานของมหาวิทยาลัย การช่วยลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก แต่รวมถึงการเป็นตัวแบบหน่วยงานที่มีส่วนช่วยให้สังคมมีความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยปลูกฝัง กระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้ประชาคมมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมถึงนักศึกษาที่เข้ามาและจบการศึกษาในแต่ละปีด้วย
มหาวิทยาลัยไทย ควรตื่นตัวพัฒนานเองและรวมกลุ่มมหาวิทยาลัย ในการดูแล รักษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมิได้มุ่งดำเนินในลักษณะผิวเผินหรือเพื่อสร้างภาพว่า มหาวิทยาลัยสนใจและให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มีการตั้งเป้าหมาย กำหนดแผนยุทธศาสตร์ และแนวทางพัฒนาสู่ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยอาจเริ่มต้นจากภายในมหาวิทยาลัย แล้วค่อยขยายสู่การเป็นตัวแบบสู่หน่วยงานอื่นภายนอกหรือสู่ชุมชน การกำหนดให้มีตัวชี้วัดเพื่อการประเมินผลและนำผลที่ได้จากการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการที่ชัดเจน เช่น ตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะ ปริมาณการใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า ในมหาวิทยาลัยปีละจำนวนเท่าไหร่ต่อปี ฯลฯ
ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางที่กำหนดขึ้น ควรมีส่วนมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกของประชาคมในมหาวิทยาลัย โดยจุดเริ่มต้นอาจต้อง ควรทำงานแบบร่วมมือกับประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิ่งแวดล้อม หรืออาจเริ่มจากให้คณะที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน แต่หากจะทำได้ดี ควรมีหน่วยงานเฉพาะกิจในการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ โดยอาจเป็นหน่วยงานประสานงานและเจ้าภาพในการดำเนินโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียว เป็นต้น
เริ่มโครงการดีๆ เพื่อชุมชน ขอชื่นชม
ตอบลบ