วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เฮนริอาตา ลีวิตต์ รู้ลึกจนชำนาญพัฒนาสู่ความเชี่ยวชาญ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

เฮนริอาตา ลีวิตต์ (Henrietta Swan Leavitt) นักดาราศาสตร์หญิงชาวอเมริกัน ผู้สร้างคุณูปการต่อวงการดาราศาสตร์ ค้นพบการคำนวณระยะห่างของดวงดาว จากการกระพริบในยุคที่ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์

เฮนริอาตา ลีวิตต์ มีความผูกพันกับฮาร์วาร์ดทั้งในแง่แหล่งประสิทธิ์ประสาทความรู้และสถานที่ฝึกฝนประสบการณ์การทำงานด้านดาราศาสตร์ จนสามารถค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักดาราศาสตร์รุ่นต่อมา 

ช่วงเวลาที่ เฮนริอาตา ลีวิตต์ มีชีวิตอยู่ นับว่าเป็นยุคการเริ่มต้นของความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย โดยเธอได้มีโอกาสเข้าเรียนในวิทยาลัยแรดคริฟท์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และจบการศึกษาจากที่นั้นในปี ค.ศ.1892

ภายหลังจบการศึกษา เธอได้เข้าทำงานใน สถาบันสังเกตการณ์วิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College Observatory) หน้าที่ของเธอคือ การนับจำนวนดวงดาว วัดค่าความสว่างของดวงดาว จากแผ่นภาพที่ได้จากกล้องดูดาว ภายใต้การควบคุมของ เอ็ดเวิร์ด ชาลส์ ปิคเกอร์ริง (Edward Charles Pickering) โดยในสมัยนั้นยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเป็นผู้ใช้กล้องดูดาว และยังไม่มีคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวนและนับจำนวน 

ประสบการณ์ที่ใกล้ชิดกับดวงดาวกว่า 15 ปี ผนวกกับความสามารถทางคณิตศาสตร์ของ เฮริอาตา ลีวิตต์ ทำให้เธอได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับดาวแปรแสง (variable stars) และเริ่มตีพิมพ์ผลงานครั้งแรกในปี ค.ศ.1908 โดยตอกย้ำการค้นพบนี้อีกครั้งด้วยผลงานชิ้นที่สองในปี ค.ศ. 1912

การศึกษาของเธอ ส่งผลให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวนหาระยะห่างของดวงดาว โดยคำนวนจากการกระพริบแสง ของดาวแปรแสงเหล่านั้น นับว่ามีประโยชน์มากในยุคที่ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าว ยังทำให้สามารถค้นพบและคำนวนระยะห่างของกาแลคซี่ ที่อยู่ไกลออกไปจากกาแลคซี่ที่เราอยู่ ซึ่งเป็นการขยายองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างชีวิตของ เฮริอาตา ลีวิตต์ สะท้อนให้เราเห็นการเป็นนักเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ทั้งจากการเรียน การทำงาน จนนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน

ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมที่แข่งขันกันที่ความรู้ ผู้ที่มีโอกาสดีกว่าผู้อื่น คือคนที่มีรู้จักนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งต้องรู้จักสั่งสมประสบการณ์ทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าขึ้น

การเป็นนักเรียนรู้ที่ดี จึงช่วยให้เราเกิดความชำนาญ เชี่ยวชาญในสิ่งที่เราทำมากขึ้น กลายเป็นทุนที่อยู่ในตัวเรา และจะเพิ่มคุณค่าขึ้น หากเรารู้วิธีที่ถูกต้องในการเพิ่มพูน อาทิ

รักการเรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่การท่องจำ เมื่อเราศึกษาค้นคว้า ความรู้ใด จำเป็นต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่กำลังเรียนรู้ อาทิ เข้าใจแนวคิด ปรัชญาเบื้องหลัง เข้าใจเหตุและผล เข้าใจบริบทแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งไม่ใช่การท่องจำ การรู้เพื่อรู้นั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องอยู่ในระดับของการเข้าใจ เพราะจะช่วยให้รู้ว่านำมาใช้ในชีวิตจริงได้มากน้อยเพียงใด และสามารถปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และมีความเป็นสหวิทยาการ การศึกษาค้นคว้า และการเรียนรู้ของแต่ละคนควรมีลักษณะของ การเรียนรู้ทั้งศาสตร์ที่ตนเองถนัด และสาขาอื่น โดยสามารถนำความรู้ที่มีอยู่เชื่อมโยงศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และหาทางออกใหม่ ๆ ในการป้องกันและแก้ปัญหา ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการพัฒนาวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ

คิดสร้างสรรค์ ไม่ติดกรอบความรู้แบบเดิม ไม่ใช้ประสบการณ์เดิมเป็นตัวตัดสินเหตุการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ให้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและคิดให้ยืดหยุ่นมากที่สุด เช่น หาทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งทางเลือกที่ไม่เคยใช้มาก่อน ทางเลือกที่คิดว่าง่าย ทางเลือกที่เคยล้มเหลวมาแล้วในอดีต หรือวิธีการที่ยังไม่มีใครนำมาใช้ เป็นต้น พิจารณาถึงความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ก่อนตัดสินใจเลือกทางเลือกที่คิดว่าเหมาะสมมากที่สุด

รู้จักประยุกต์ความรู้ เพื่อการทำงาน การนำความรู้ที่มีอยู่ มาใช้ในภาคปฏิบัติจำเป็น ต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะสม เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียนรู้ว่า จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เหมาะสมกับบริบทที่เราดำเนินอยู่หรือไม่ เราสามารถคิดอะไรใหม่ ๆ ต่อยอดจากสิ่งที่เราเรียนรู้ได้บ้าง เพื่อให้เราใช้ประโยชน์จากความรู้นั้นได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

พาตนเองเข้าหาแหล่งความรู้อยู่เสมอ การแสวงหาช่องทางรับข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองเพิ่มเติมอยู่เสมอ โดยใช้แหล่งความรู้ทั่วไป เช่น เข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ สมัครเป็นสมาชิกรับวารสารของหน่วยงานต่าง ๆ ที่แจกจ่ายให้กับทุกคนที่สนใจ หรือเรียนรู้จากผู้อื่น ขอคำปรึกษาหรือสอบถาม ทั้งคนที่มี และไม่มีประสบการณ์ เพื่อพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมาได้

ความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญที่มีอยู่ จะเป็นประโยชน์ หากเราเรียนรู้ที่จะเพิ่มพูน และนำมาใช้ ในลักษณะที่ยืดหยุ่น ท้าทายให้คิดสร้างสรรค์ และเพิ่มเติมความรู้ทั้งในเชิงลึก และขยายไปสู่ความรู้ในศาสตร์อื่น เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ ทั้งในการพัฒนาตนเองให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น และการพัฒนาสังคม ขับเคลื่อนไปข้างหน้า และอาจสามารถยกระดับไปสู่การเป็นผู้นำ ในบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น