Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
เอมี กัตแมนน์ Amy Gutmann ผู้บริหารหญิงผู้มากความสามารถ เป็นศิษย์เก่าฮาร์วารด์ที่รับรางวัลเกียติยศจากมหาวิทยาลัยในฐานะ ศิษย์เก่าผู้สร้างชื่อให้แก่สถาบัน โดยการสร้างสรรค์สิ่งดีสู่สังคม เป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ กล้าคิดและกล้าตั้งเป้าหมายใหญ่ เพื่อพัฒนาสถาบันการศึกษาที่ตนบริหาร ให้ก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในโลกของการศึกษา
รั้วฮาร์วาร์ดได้ต้อนรับเอมี กัตแมนน์ ในฐานะนักศึกษาในวิทยาลัยแรดคริฟท์ ซึ่งจบการศึกษา ด้วยคะแนนเกียรตินิยม (magna cum laude) ในปี ค.ศ. 1971 และกลับมาศึกษาในฮาร์วาร์ดอีกครั้งในระดับปริญญาเอก ด้านรัฐศาสตร์ จบการศึกษาเมื่อ ค.ศ.1976 ต่อมาได้กลับเข้ามาอีกครั้งในฐานะอาจารย์รับเชิญ สอนในวิทยาลัยแรดคริฟท์ และ วิทยาลัยฮาร์วารด์เคเนดี้
ชื่อเสียงของ เอมี กัตแมนน์ รู้จักกันดีในฐานะนักนโยบายการศึกษา อาจารย์ และผู้บริหารสถาบันการศึกษาชื่อดังหลายแห่ง โดยเฉพาะในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ที่เธอเข้ารับตำแหน่งเมื่อ ค.ศ.2004
การเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เอมี กัตแมนน์ ได้นำเสนอแนวคิดการบริหารงาน การปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ๆ ที่เป็นการวางรากฐานให้มหาวิทยาลัย ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการเรียนการสอน การวิจัยของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียนรู้ต่อยอดความสำเร็จจากฮาร์วาร์ด ที่เธอได้มีโอกาสคลุกคลี ทั้งในฐานะนักศึกษาและอาจารย์
โครงการสำคัญที่ เอมี กัตแมนน์ ได้ริเริ่มในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้แก่ การปรับปรุงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ โดยสนับสนุนให้นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยได้รับโอกาสทางการศึกษา และโครงการระดมทุนแก่มหาวิทยาลัยที่มีมูลค่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโครงการระทุนก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย
นอกจากนี้เธอยังเป็นเจ้าของแนวคิด การพัฒนาวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย ให้เป็นแหล่งการศึกษาครบวงจร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในอาณาเขตดังกล่าวมีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ที่พักอาศัย ศูนย์สาธารณสุขและการวิจัย ซึ่งได้เปิดทำการไปในเดือนตุลาคม ค.ศ.2008 ที่ผ่านมา
เป้าหมายสำคัญที่ เอมี กัตแมนน์ ตั้งไว้คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การวิจัยของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านงบประมาณสนับสนุนด้านทุนการศึกษา การสร้างความเข้มแข็งให้กับเงินประเดิมของคณะต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการเรียนการสอน การวิจัย และชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษาทุกคน
บทบาทหน้าที่ในฐานะผู้บริหารของ เอมี กัตแมนน์ ไม่ได้มีเพียงในมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียแห่งเดียวเท่านั้น เธอยังได้รับเชิญให้เป็นผู้บริหาร ในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศ เช่น คณบดีมหาวิทยาลัยพริ้นซ์ตัน (Princeton's Dean of the Faculty) และผู้อำนวยการก่อตั้งศูนย์คุณค่าของมนุษย์ แห่งมหาวิทยาลัยพริ้นซ์ตัน (The University Center for Human Values)
นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เป็น คณะกรรมการด้านนโยบายการศึกษา ของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ทั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษาแห่งชาติ (National Security Higher Education Advisory Board) ฟอรั่มผู้นำมหาวิทยาลัยของโลก (Global University Leaders Forum: GULF) รวมถึงเข้าร่วมในคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก เพื่อให้คำปรึกษาด้านนโยบายการศึกษา ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์กรสหประชาชาติ ในประเด็นการศึกษาของโลก
ผลงานที่โดดเด่นทำให้ เอมี กัตแมนน์ ได้รับรางวัลยกย่องจากสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่มบ่มเพาะที่สำคัญดังเช่นฮาร์วาร์ด ในฐานะศิษย์เก่าที่มีผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ในปี ค.ศ.2003 และเมื่อไม่น่านมานี้วิทยาลัยแรดคริฟท์ ได้มอบรางวัลให้เธอ ในฐานะศิษย์เก่าที่สร้างชื่อให้กับวิทยาลัยเมื่อปี ค.ศ.2006
สิ่งที่เราได้รับจากความสำเร็จของ เอมี กัตแมนน์ คือ เป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ในการทำงาน มียุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการให้ไปถึงเป้าหมาย โดยการตั้งเป้าหมายและเรียนรู้ต่อยอดจากความสำเร็จของคนอื่น เพื่อให้ตนเองไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้
การที่เราจะประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งด้านการเรียน การทำงาน เราจำเป็นต้องพัฒนาวิสัยทัศน์ให้เป็นหนึ่งในลักษณะชีวิตของเราด้วย
ฝันให้ไกล คิดให้ใหญ่ เราต้องเป็นคนที่ไม่มองเพียงปัญหาเฉพาะหน้าหรือมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อวันนี้ แต่ต้องมีสายตามองไกลออกไปในอนาคต มองระยะยาว คนมีวิสัยทัศน์จึงไม่ทำอะไรเพื่อวันนี้ แต่จะทำเพื่อพรุ่งนี้และวันข้างหน้าด้วย
การทดสอบขั้นพื้นฐานเพื่อดูว่าเราเป็นผู้มีวิสัยทัศน์หรือไม่ ให้เราลองหลับตาและถามตัวเองว่า “ต้องการเห็นอนาคตเป็นอย่างไร?” “เราต้องการไปไกลถึงระดับใดในความสามารถและศักยภาพของเรา ทั้งในชีวิตส่วนตัวและในอาชีพการงาน?” “เราพร้อมจะท้าทายตัวเองให้กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อไปถึงจุดนั้นหรือไม่” “เรามั่นใจว่าจะบุกบั่นไม่ย่อท้อ แม้มีอุปสรรคจนกว่าสิ่งที่เราปรารถนาจะสำเร็จหรือไม่”
เรียนรู้ต่อยอด ความสำเร็จไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ หลายครั้งเราสามารถเรียนรู้ ที่จะสร้างความสำเร็จจากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ดึงสิ่งที่ดีที่สุดมาเป็นต้นแบบ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทที่เราเป็นอยู่ โดยอาจพิจารณาว่า สามารถนำหลักการเหล่านั้น มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไรบ้าง เป็นเหมือนเป้าหมายที่กระตุ้นให้เราอยากไปให้ถึง
เชื่อมั่น ยืนหยัด เพื่อไปให้ถึง เราต้องมีเชื่อมั่นและยืนหยัดในวิสัยทัศน์ของตน อาจมีคนไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย สงสัยในวิสัยทัศน์ที่เรากำลังจะไป ยิ่งเมื่อเกิดปัญหาอุปสรรคระหว่างทาง เราต้องไม่หวั่นไหว ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ มองข้ามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ภายหน้า ไปยังเป้าหมายระยะไกลที่ต้องการไปให้ถึง ขณะเดียวกัน ต้องมีความคิดแง่บวกและให้เชื่อมั่นว่า ถ้าเราพยายามอย่างเต็มที่ อุปสรรคที่ขวางกั้นจะจัดการได้ไม่ยาก
ความสำเร็จแท้ต้องเกิดจาก การค้นหาเป้าหมายที่มีคุณค่า การวางแผนการดำเนินการที่ดีรอบคอบ อย่างมียุทธศาสตร์ มีความมุ่งมั่นตั้งใจและพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แผนงานที่วางไว้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ แม้อาจล้มลุกคลุกคลานไปบ้างในบางครั้ง แต่ตราบที่ความตั้งใจยังตั้งมั่นไม่สิ้นสุด ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น