วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การค้าไทยในภาวะฝืดเคือง

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ที่มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา และกำลังลุกลามไปยังยุโรปและทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปเริ่มส่งสัญญาณการเข้าสู่ภาวะถดถอยและทำให้เศรษฐกิจเอเชียชะลอตัวลงด้วย และมีแนวโน้มความถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นในปี พ.ศ.2552

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว ประกอบกับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่รุนแรงมากขึ้น สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการในประเทศไทยว่า จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าของไทยอย่างไรและรุนแรงเพียงใด

การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย (โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน) มีแนวโน้มชะลอตัวลง จะส่งผลกระทบทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

สถิติในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะปี พ.ศ.2544 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวเพียงร้อยละ 0.76 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2543 ส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยติดลบถึงร้อยละ 10.12 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้นหากเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี พ.ศ.2552 มีแนวโน้มขยายตัวติดลบ จึงเป็นไปได้ว่า การส่งออกของไทยจะชะลอตัวอย่างรุนแรง และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด การส่งออกของไทยอาจหดตัวลง

ปัจจุบัน สัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกของไทยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเดือนสิงหาคมและกันยายนชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยเป็นการลดลงในเชิงปริมาณมากกว่าลดลงด้านราคา และคำสั่งซื้อของภาคอุตสาหกรรมเริ่มลดลงจากเดิม ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

เช่นเดียวกับการค้าภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนและทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นจนไม่กล้าใช้จ่าย การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวจะทำให้รายได้ของภาคการผลิตและธุรกิจท่องเที่ยวชะลอตัวลง ส่งผลทำให้ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดกิจการหรือปลดแรงงานออกจำนวนมาก ความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศจึงชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังมีความเสี่ยงขาดสภาพคล่อง เพราะสถาบันการเงินเริ่มมีสภาพคล่องตึงตัว และระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจข้ามชาติหันมาระดมทุนในประเทศมากขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหาแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น

ในภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองเช่นนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจจำเป็นต้องให้ความระมัดระวังในการบริหารต้นทุนและรายได้มากขึ้น โดยพยายามลดต้นทุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้มากที่สุด โดยเฉพาะต้นทุนการเก็บสต็อกวัตถุดิบและสินค้า รวมทั้งเน้นการส่งออกไปยังตลาดที่ยังพอมีกำลังซื้อ เช่น จีน ตะวันออกกลาง เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมการขายในตลาดภายในประเทศที่ยังคงมีอัตราการขยายตัวมากกว่าสหรัฐฯและยุโรป

อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจของไทยไม่ได้หดตัวรุนแรงมากเท่ากับที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯและยุโรป จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการของไทยที่สามารถประคองตัวให้รอดพ้นจากภาวะเช่นนี้ไปได้ เพราะหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป ธุรกิจที่เป็นคู่แข่งจำนวนหนึ่งจะล้มหายตายจากไป ทำให้จำนวนคู่แข่งขันลดลง ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวด้วย โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ และการปรับโครงสร้างตลาดเพื่อกระจายความเสี่ยงมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น