เกณฑ์การพิจารณาให้เกรดจะคำนวณจากหมวดใหญ่ 9 หมวด 48 ตัวชี้วัด อันประกอบไปด้วย หมวดการบริหารจัดการ หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและพลังงาน หมวดอาหารและการนำกลับมาใช้ใหม่ หมวดอาคารสีเขียว หมวดการมีส่วนร่วมของนักศึกษา หมวดการขนส่ง หมวดความโปร่งใสในการบริหารจัดการทางด้านการเงิน หมวดการให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุน และหมวดข้อตกลงของการเป็นหุ้นส่วน โดยข้อมูลทั้งหมดจะมาจากเหล่าผู้บริหารและนักศึกษาในสถาบันการศึกษาแห่งนั้น
ผลการประเมินพบว่า ฮาร์วาร์ดได้คะแนนในระดับ A อยู่ทั้งหมด 6 หมวดด้วยกัน โดยในบทความนี้ยกตัวอย่าง 3 หมวด อาทิ
การบริหารจัดการ พิจารณาจากความพยายามในการขับเคลื่อนข้อตกลงร่วมกัน 3 ประการ ได้แก่ การกำหนดข้อปฏิบัติว่าด้วยความยั่งยืนและการตั้งเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกในมหาวิทยาลัย โดยการจัดตั้งสำนักงานเพื่อความยั่งยืน (Office for Sustainability) เพื่อขับเคลื่อนงานดังกล่าว ปัจจุบันสำนักงานแห่งนี้ มีพนักงานประจำทั้งหมด 22 คน ไม่เพียงเท่านั้น มหาวิทยาลัยยังมีการระดมบุคลากรมากกว่า 130 คน ทั้งที่เป็นระดับผู้บริหาร พนักงาน คณาจารย์ และนักศึกษา เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะที่ปรึกษาซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาและคณาจารย์คอยตรวจสอบการทำงานดังกล่าวเป็นระยะ
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและพลังงาน พิจารณาจากการตั้งเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งฮาร์วาร์ดให้การสนับสนุนและผลักดันให้เกิดโครงการทางด้านการอนุรักษ์และพัฒนามากกว่า 12 โครงการด้วยกัน รวมทั้งยังให้การสนับสนุนเงินทุนกู้ยืมสำหรับทำโครงการดังกล่าวเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า เงินทุนกู้ยืมสู่วิทยาลัยสีเขียว (Green Campus Loan Fund) ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกด้วย นอกจากนั้น ฮาร์วาร์ดยังได้มีการติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนทั้งหมด 4 แผง แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้สำหรับทำน้ำร้อนอีกจำนวน 3 แผง และติดตั้ง rooftop wind เมื่อไม่นานมานี้
ด้านอาหารและการนำกลับมาใช้ใหม่ พิจารณาจากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า Dining service ซึ่งได้ใช้งบประมาณกว่าร้อยละ 25 ในการซื้อผลผลิตตามฤดูกาลที่ผลิตโดยท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับการทำอาหาร นอกจากนี้ ฮาร์วาร์ดยังผลักดันให้มีการดำเนินโครงการทำปุ๋ยหมักที่ครอบคลุมกระบวนการทั้งก่อนและหลังการบริโภคอาหาร ตลอดจนขยะที่เกิดจากการจัดกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินโครงการลดปริมาณของเสียที่แหล่งกำเนิด โดยจัดให้มีสถานที่สำหรับเก็บหรือสถานีรับบริจาคก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้าย เพื่อนำไปดำเนินการตามกระบวนการหรือขั้นตอนอื่นต่อไป
ประยุกต์สู่ประเทศไทย การพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนที่มีส่วนดูแลรักษาส่วนรวมและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เพราะมิได้ส่งผลเฉพาะการบริหารทรัพยากรมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสร้างและหล่อหลอมการมีทัศนคติเห็นแก่ส่วนรวมและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมแก่บุคลากรและผู้เรียน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความใส่ใจและสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
กระแสการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย มีการตื่นตัวมากขึ้น เนื่องด้วยสภาพความจำกัดและความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการเปิดเสรีทางการค้าที่มีประเด็นด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผมเสนอว่า มหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ ควรมีบทบาทเป็นตัวแบบและกระตุ้น ให้ภาคีอื่นและสังคมไทยภาพรวม พัฒนาสู่การเป็นองค์กรและสังคมที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การมุ่งพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่ยั่งยืนไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และยุทธศาสตร์แผนงานการดำเนินการมีอยู่แล้ว ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยจะมีบทบาทนี้ ควรกำหนดจุดยืนที่ชัดเจน บนจุดแกร่งของสถาบันการอุดมศึกษา กลุ่มมหาวิทยาลัยควรวางยุทธศาสตร์ดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบภายในกลุ่มมหาวิทยาลัย และขยายผลสู่ภาคีอื่น มีการพัฒนาโครงการต้นแบบที่กลุ่มภาคีอื่นจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ฯลฯ โดยอาจเริ่มจากกลุ่มที่มหาวิทยาลัยค่อนข้างมีความสัมพันธ์หรือมีอิทธิพล เช่น สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชุมชน บริษัทหรือส่วนราชการที่อยู่รายล้อมรอบมหาวิทยาลัย เป็นต้น
Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น