วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ดบริการสู่ชุมชนสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ตอนจบ

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เกิดมาจากความร่วมมือกันระหว่างศูนย์วิจัยฮาร์วาร์ด สำนักงานท้องถิ่น องค์กรชุมชน และองค์กรอื่น ๆ ในเมืองบอสตัน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาที่อยู่อาศัยและแสวงหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ปัจจุบันฮาร์วาร์ดมีการดำเนินโครงการประเภทนี้ 8 โครงการ ตัวอย่างโครงการที่ทำขึ้นภายในฮาร์วาร์ดเพื่อกลุ่มคนด้อยโอกาส คือ โครงการ Harvard Square Homeless Shelter ซึ่งให้บริการที่พักชั่วคราวกับบุคคลทั่วไปที่มีความต้องการ ซึ่งที่พักดังกล่าวนี้จะจัดให้อยู่บริเวณชั้นใต้ดินของมหาวิทยาลัยที่ Lutheran Church ในฮาร์วาร์ดแสควร์ โดยกลุ่มนักศึกษาอาสาสมัคร จะจัดเตรียมที่พัก อาหาร และการให้คำปรึกษากับบุคคลที่ต้องการที่พัก ซึ่งที่พักดังกล่าวนี้ เปิดให้บริการกับผู้ที่มีความต้องการได้ทุกวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ จำกัดจำนวนไว้เพียงแค่ 24 คนต่อคืนเท่านั้น

โครงการพัฒนาความเป็นอยู่และวัฒนธรรมคนเมือง ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนี้โดยหาแนวทาง ที่จะทำให้ชุมชนในบริเวณพื้นที่เมืองบอสตันเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ฮาร์วาร์ดจึงได้ริเริ่มโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับชุมชนเหล่านี้ขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีโครงการประเภทนี้ถึง 137 โครงการ ตัวอย่างโครงการหนึ่งคือ โครงการ Food Fight ที่โรงเรียนบริหารธุรกิจแห่งฮาร์วาร์ดร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ เปิดระดมทุนรับบริจาคเฉพาะอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นานและเงินบริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้หิวโหยในเมืองบอสตัน โดยฮาร์วาร์ดจะจัดกิจกรรมนี้ขึ้นในทุกเดือนพฤศจิกายนของทุกปี หลังจากนั้น จึงรวบรวมอาหารและเงินบริจาคที่ได้รับ ไปบริจาคให้ธนาคารอาหารแห่งเมืองบอสตัน (the Greater Boston Food Bank) ต่อไป

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
ภารกิจการบริการทางวิชาการและความรู้สู่ชุมชนหรือส่วนรวม เป็นประเด็นที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรให้ความสำคัญ และมีแนวทางการดำเนินการชัดเจน โดยเฉพาะในสภาวะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ต้องก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แต่ภารกิจการบริการวิชาการสู่สังคมไม่ควรละเลย โดยการดำเนินการให้สามารถเกิดขึ้นได้จริงและเป็นรูปธรรม ควรเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เป็นโครงการที่เป็นที่ต้องการของชุมชน เป็นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรสนับสนุน โดยเฉพาะในระยะแรกของการดำเนินการ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย จัดทำโครงการที่คิดสร้างสรรค์ออกนอกกรอบที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงแต่ละโครงการที่นักศึกษาหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยเข้าร่วม ควรมีระบบการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรมและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ผมเคยเสนอแนวคิด “หน่วยกิตทำดี” ในมหาวิทยาลัย โดยให้นักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผ่านหน่วยกิตทำดีอย่างน้อย 3 หน่วย ตลอดช่วงการศึกษาในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยสามารถนำแนวคิดหรือแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวนี้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมของตนเองได้ โดยเริ่มต้นจากการผลักดันให้มีการเชื่อมโยงงานบริการสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์และเป้าหมายของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง ผลักดันให้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างจริงจังเป็นรูปธรรม มีความต่อเนื่องและเป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้สามารถก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทั้งในเชิงวิชาการและการมีส่วนช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง

ตอนต้น   ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น