วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ด ต้นแบบ "มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก"

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำ อันดับ 1 ของโลก ติดกัน 4 ปีซ้อน มีการพัฒนาการจัดการศึกษาและการวิจัยที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยการจัดเรียนการสอนและทำวิจัยของฮาร์วาร์ด ได้ก้าวข้ามพรมแดนทางด้านภูมิศาสตร์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกของชุมชนฮาร์วาร์ด ขยายตัวไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน การทำวิจัย การจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร โครงการท่องเที่ยว โครงการแลกเปลี่ยน การจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าและสำนักงานต่าง ๆ ซึ่งในขณะเดียวกัน มีการเพิ่มจำนวนขึ้นของนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในฮาร์วาร์ดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฮาร์วาร์ดมีลักษณะความเป็นมหาวิทยาลัยในระดับสากลชัดเจน ผ่านรูปแบบการดำเนินงานหรือการจัดกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ที่ขยายไปทั่วโลก อาทิ

การจัดโปรแกรมการศึกษาในภูมิภาคทั่วโลก กิจกรรมทางวิชาการนับเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่ง ที่ทำให้ฮาร์วาร์ดสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับสากล โดยมีหลากหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย การจัดโปรแกรมการศึกษาสำหรับผู้บริหาร การเรียนต่อต่างประเทศ โดยมีขอบเขตครอบคลุมมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก ตัวอย่างเช่น การดำเนินการจัดโปรแกรมการศึกษาบริเวณแถบทวีปเอเชียและตะวันออกกลางเกือบ 300 โปรแกรมใน 34 ประเทศ การจัดโปรแกรมการศึกษาบริเวณแถบทวีปแอฟริกาจำนวน 95 โปรแกรมใน 27 ประเทศ การจัดโปรแกรรมการศึกษาบริเวณทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย 20 โปรแกรมใน 5 ประเทศ การจัดโปรแกรมการศึกษาบริเวณทวีปยุโรป 150 โปรแกรมใน 32 ประเทศ การจัดโปรแกรมการศึกษาบริเวณทวีปอเมริกาเหนือและคาริบเบียน 85 โปรแกรมใน 16 ประเทศ (ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา) รวมถึงการจัดโปรแกรมการศึกษาบริเวณทวีปอเมริกาใต้ 75 โปรแกรมใน 10 ประเทศ

นอกจากนี้แล้ว ฮาร์วาร์ดยังมีศูนย์วิจัยและวิทยาลัยต่าง ๆ ตั้งอยู่ใน 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น รัสเซีย บราซิล เฉพาะในช่วงปี ค.ศ.2007 ถึง 2008 ที่ผ่านมา มีนักศึกษาจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจำนวนมากถึง 1,372 คน เดินทางไปศึกษา ทำการวิจัย เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนและอื่น ๆ ใน 93 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันในฮาร์วาร์ดเอง ได้จัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร และการทำวิจัยในประเด็นที่เป็นกระแสหรือกำลังเป็นที่สนใจระดับโลกอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดตั้งศูนย์หรือสำนักงาน เพื่อดำเนินการศึกษาในประเด็นเหล่านี้อย่างเป็นระบบ

การเป็นศูนย์รวมของนักศึกษาทั่วโลก ด้วยชื่อเสียงและความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นปัจจัยดึงดูดนักศึกษาเก่งจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เข้าศึกษาต่อในฮาร์วาร์ด จะเห็นได้จากสัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 35 ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เฉพาะในปี ค.ศ. 2008 – 2009 มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนมากถึง 4,000 คนหรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 20 ของนักศึกษาที่มาลงทะเบียนทั้งหมด ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้เป็นเสหมือนตัวแทนผู้เรียนที่เก่งระดับแนวหน้าจากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก 

การมีระบบอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาต่างชาติ ผู้บริหารฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญในการดูแลนักศึกษาต่างประเทศ เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดการและพัฒนาฮาร์วาร์ดสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับสากล ซึ่งมีการจัดตั้งเป็น Harvard International Office หรือ HIO ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจ ให้ความช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติ นักศึกษาที่ได้รับทุนและครอบครัวในการใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา ทั้งนี้ ความช่วยเหลือดังกล่าวครอบคลุมถึงเรื่องการทำวีซ่า การดูแลสุขภาพ การช่วยเหลือการเงิน และปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเรียนและการใช้ชีวิตในอเมริกา ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลลูก การเรียนภาษาอังกฤษ และเครือข่ายทางสังคมสำหรับนักศึกษาต่างชาติ อีกทั้งมีระบบอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าเยี่ยมชมฮาร์วาร์ดด้วย เพื่อเป็นศูนย์กลางตัวแบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยระดับโลก และเพื่อดึงดูดนักศึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฮาร์วาร์ด

นอกจากนี้ ฮาร์วาร์ดยังมีองค์กรนักศึกษาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากถึง 100 องค์กร ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาต่างชาติ ตลอดจนนักศึกษาที่มีความสนใจที่จะไปเรียน ทำงาน หรือเป็นอาสาสมัครในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

การรวมกลุ่มศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดอย่างเหนียวแน่นกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันฮาร์วาร์ดมีศิษย์เก่าที่อยู่ตามประเทศต่าง ๆ มากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยกลุ่มศิษย์เก่าเหล่านี้ จะมีการรวมตัวเป็นชุมชน โดยจัดตั้งเป็นสมาคมศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดกิจกรรมทางสังคมและการศึกษาให้ อาทิ การช่วยเหลือศิษย์เก่าจากวิทยาลัยต่าง ๆ ของฮาร์วาร์ด ในการติดต่อกับมหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมรุ่น ตลอดจนการจัดกิจกรรมและโปรแกรมการศึกษาแบบต่อเนื่อง การให้บริการออนไลน์ และการจัดกิจกรรมพิเศษรอบโลก ทั้งนี้ เพื่อยึดโยงศิษย์เก่าเหล่านี้อย่างเหนียวแน่น 

อีกทั้ง สมาคมศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด ยังได้สนับสนุนให้มีฮาร์วาร์ดคลับเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสและเป็นอีกช่องทางหนึ่ง สำหรับให้ศิษย์เก่าสามารถติดต่อกับฮาร์วาร์ดและติดต่อระหว่างกันและกันได้ โดยจัดให้มีโปรแกรมและการบริการต่าง ๆ ที่หลากหลาย ให้ศิษย์เก่าเลือกรับบริการได้ตามสนใจ

ฮาร์วาร์ด นับเป็นตัวแบบหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก และการมีเครือข่ายที่เหนียวแน่นกระจายไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก และมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ นับเป็นตัวแบบในการศึกษาเพื่อเป็นทางลัดในการเรียนรู้และต่อยอด สู่การพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยระดับสากล

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
ผมได้เสนอประเด็นการนำ “มหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก” ไว้เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ตั้งแต่ช่วงเริ่มปฏิรูปการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2542 ซึ่งในช่วงเวลานั้น มีหลายคนไม่เห็นด้วยแนวคิดนี้ และให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ผมยังยืนยันและพูดเรื่องนี้ พร้อมนำเสนอแนวทางในหลายเวที จนถึงปัจจุบัน

เมื่อเวลาผ่านไป เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยไทยขนาดใหญ่หลายแห่ง กำหนดวิสัยทัศน์และตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก หรือเป็นมหาวิทยาลัยระดับสากล แต่การจะพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับสากล มิใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่จะเป็นไปได้ 

การจะก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับสากลได้ จำเป็นต้องเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดยพัฒนาตามดัชนีชี้วัดที่เป็นองค์ประกอบของการจัดอันดับ การกำหนดวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลและกล้าหาญ การอยู่ในบริบทมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ รวมถึงมีการพัฒนาการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ การสร้างเครือข่ายและประสานประโยชน์จากภาคีต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดจนการบูรณาการข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เพื่อให้รองรับการก้าวไปสู่พรมแดนการบริหารในรูปแบบใหม่ พรมแดนความรู้ใหม่ พรมแดนทางความแตกต่างด้านภาษา ประเด็นวิกฤตปัญหา และการทำงานข้ามวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งล้วนมีจุดเริ่มต้นจากการต้องมี “ผู้บริหารชั้นยอดที่มีภาวะผู้นำระดับสูง มองการณ์ไกล และกล้าหาญ”

1 ความคิดเห็น: