วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ด ต้นแบบ "มหาวิทยาลัยที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง"

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com


ท่ามกลางสภาพวิกฤตทางเศรษฐกิจ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การปฏิรูปการศึกษา การเผชิญกับข้อบังคับทางการเงินใหม่ ๆ ในอนาคต ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงวิกฤตด้านคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ ที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

สถานการณ์การเผชิญกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านดังกล่าว ส่งผลให้เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา อธิการบดี ดรูว์ กิลพิน เฟาสต์ (Drew Gilpin Faust) ได้ออกมาแสดงวิสัยทัศน์และให้ทิศทางสมาชิกประชาคมฮาร์วาร์ด ผ่านแถลงการณ์พิเศษ โดยเนื้อหาใจความสำคัญ เป็นการมุ่งท้าทาย ให้นักศึกษาและสมาชิกในประชาคมฮาร์วาร์ด นำความรู้ที่มีอยู่มาเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น อันเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน ให้ฮาร์วาร์ดเกิดกระบวนการเรียนรู้ หาวิธีการแก้ไขและรับมือ ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านสติปัญญา ตลอดจนพัฒนาความรู้ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ อธิการบดี ดรูว์ กิลพิน เฟาสต์ ยังได้ย้ำชัดเจนถึงบทบาทของฮาร์วาร์ดว่าจะต้อง “เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง มิใช่เป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้น

สภาพการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งกำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ทำให้ฮาร์วาร์ด ต้องหันกลับมาคิดทบทวนบทบาทตนเอง และเป็นการเรียกร้องให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น เช่นเดียวกับการผลิตคิดค้นและแสวงหาทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ผู้บริหารระดับสูงของฮาร์วาร์ด ได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาให้ฮาร์วาร์ดก้าวไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” โดยตั้งอยู่บนรากฐานสำคัญของการพัฒนาความรู้ สติปัญญาและการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวสู่สาธารณะชน

ตัวอย่าง แนวทางที่ฮาร์วาร์ด มุ่งดำเนินการสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง” เพื่อเตรียมพร้อมรับอนาคต ได้แก่

การดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกสู่รั้วฮาร์วาร์ด ฮาร์วาร์ดยังคงให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก เนื่องด้วยนักศึกษาที่ดีที่สุดเหล่านี้ มีความจำเป็นต่อการสร้างเอกลักษณ์ ความแตกต่างให้ฮาร์วาร์ด เพื่อสามารถรักษาความเป็นเลิศทางวิชาการ การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งไว้ได้ โดยฮาร์วาร์ดมีการพัฒนาปรับปรุงโปรแกรมให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่นักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถแต่จำกัดทางเศรษฐกิจ อีกทั้งผลักดันการลงทุนพัฒนาโครงงานพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าฮาร์วาร์ดจะประสบกับปัญหาวิกฤตด้านการใช้จ่าย การลดลงของกองทุนตั้งต้นอย่างมาก ซึ่งล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก โดยฮาร์วาร์ดยังคงลงทุนและพัฒนาห้องเรียน สื่อการสอน อุปกรณ์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ อันเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของฮาร์วาร์ด

สร้างหุ้นส่วนวิจัย เพื่อเป็นแหล่งวิจัยทางวิทยาศาสตร์อันดับต้นของสหรัฐอเมริกา ฮาร์วาร์ดมีเป้าหมายจะพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเต็มตัว แม้ว่าที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานภาครัฐจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของฮาร์วาร์ด

ดังนั้น ฮาร์วาร์ดจึงแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อพร้อมรับสภาพความจำกัดทางทรัพยากร โดยที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดดำเนินการผลักดัน ให้มีการทำงานข้ามคณะและประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น สเต็มเซลล์ พันธุวิศวกรรมศาสตร์ ประสาทวิทยาศาสตร์ และชีววิศวกรรม เป็นต้น

อีกทั้งในอนาคต ฮาร์วาร์ดมีเป้าหมายขยายการทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนกับหน่วยงานหรือองค์กรกลุ่มใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น อาทิ มูลนิธิ สมาคม องค์กรภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยมีฐานแนวคิดและความเชื่อมั่นมาจากผู้บริหารระดับสูงของฮาร์วาร์ดที่เชื่อว่า “การจะสามารถก้าวสู่จุดที่เหนือกว่าได้นั้น จะต้องมีพื้นฐานมาจากการคิดค้นและแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการผลิตและสนับสนุนงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์” นั่นเอง

ปลูกฝังและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสู่สังคม อนาคตฮาร์วาร์ดตั้งเป้าที่มิได้เป็นเพียงแหล่งผลิตองค์ความรู้และงานวิจัยที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่จะเป็นเหมือนกระบอกเสียงสำคัญ ในการวิเคราะห์ บอกเล่าความจริงเกี่ยวกับประเด็นกระแสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนการตอบข้อสงสัยหรือข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การให้ทิศทางและคำตอบในทางที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น

นอกจากนั้น ฮาร์วาร์ดยังมุ่งมั่นปลูกฝังและพัฒนานักศึกษา ให้มีคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยการสอดแทรกการสอนประเด็นคุณธรรมจริยธรรม เข้าไปเป็นสาระหลักของโปรแกรมการสอนในคณะต่าง ๆ ที่มุ่งพัฒนานักศึกษาที่จะจบออกไป มิได้มองเพียงแต่เฉพาะการสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ ในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นการปลูกฝังนักศึกษา ให้มีจิตสำนึกรับผิดชอบ ทั้งด้านการประกอบธุรกิจ และการเป็นผู้นำอย่างเป็นมืออาชีพ และมีคุณธรรมจริยธรรมร่วมด้วย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องทบทวนภารกิจและบทบาทที่มุ่งมองและพร้อมรับอนาคตมากขึ้น เนื่องด้วยโลกมีการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มหาวิทยาลัยยังคงเป็นแหล่งผลิตกำลังคนระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัย ตลอดจนคิดค้นนวัตกรรมวิทยาการใหม่ ในการไขข้อสงสัยและตอบสนองความต้องการของสังคม นำพาสังคมให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากอนาคตที่จะมาถึง และหลีกเลี่ยงบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และให้ข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์แก่สังคม 

การปรับตัวดังกล่าวนับ เป็นเรื่องท้าทายสำหรับมหาวิทยาลัยไทย เนื่องด้วยต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และพัฒนาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบเตือนภัยและเฝ้าระวังสถานการณ์ต่าง ๆ การรับฟังความคิดเห็นและต้องการของสังคม การปรับระบบบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นสามารถขยับเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤต รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบุคลากรของมหาวิทยาลัย ให้สามารถคิดวิเคราะห์ คิดประยุกต์ และเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เท่าทัน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น