วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ดร่วมกับชุมชนพร้อมรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

กระแสการเปลี่ยนแปลงและสภาวะวิกฤตต่าง ๆ โดยโลกต้องเผชิญกับความท้าทายและปัญหาใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงของฮาร์วาร์ด ได้ตระหนักถึงความสำคัญ โดยออกมาแสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนที่ชัดเจนในการท้าทาย ให้ประชาคมฮาร์วาร์ดปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือในการเผชิญกับภาวะวิกฤตต่าง ๆ ด้วยการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากมหาวิทยาลัย ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม และสนับสนุนให้ประชาคมฮาร์วาร์ด เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมส่วนรวม โดยผลักดันให้ฮาร์วาร์ดเป็นผู้นำที่ยืนอยู่บนยอดคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับอนาคตได้อย่างเท่าทัน

โครงการตัวอย่างที่ฮาร์วาร์ดมีส่วนร่วมกับชุมชนในการเตรียมพร้อมรับภาวะวิกฤตทางธรรมชาติ เช่น โครงการที่ วิทยาลัยเคนเนดี้แห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Kennedy School) ได้จัดทำขึ้น อาทิ

โครงการความร่วมมือกับกลุ่มผู้บริหารระดับสูงแห่งเมืองซานฟานซิสโก เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือหายนะจากแผ่นดินไหวของเมืองซานฟรานซิสโก ที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตอีกประมาณ 25 ปีข้างหน้า ซานฟรานซิสโก จะเป็นเมืองที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งมีขนาดแรงสั่นสะเทือนอยู่ที่ 6.7 ริคเตอร์ ได้ถึงร้อยละ 62 ซึ่งเป็นภัยพิบัติดังกล่าวคาดว่าจะสร้างความหายนะความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินของชาวเมืองซานฟานซิสโกเป็นอันมาก ในจำนวนนี้คาดว่า จะมีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าวถึง 30,000 หลัง มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านดอลล่าห์

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่เมืองนิวออร์ลีนส์ ความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าว เป็นตัวจุดประกายและผลักดันให้คณะวิจัยจากวิทยาลัยเคนเนดี้แห่งฮาร์วาร์ด จัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่เมืองนิวออร์ลีนส์ ในมลรัฐหลุยส์เซียน่า เพื่อเป็นกรณีศึกษา โดยเป็นโครงการศึกษาต่อเนื่องระยะยาว ซึ่งภายในปีนี้ วิทยาลัยเคนเนดี้แห่งฮาร์วาร์ด จะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชื่อว่า “Disaster Recovery Management and Urban Development: Rebuilding New Orleans” โดยยืนอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์ของพื้นที่เมืองนิวร์ออลีนส์ ที่ประสบภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาพัดถล่ม เมื่อปลายปี พ.ศ.2548 จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก พื้นที่ประมาณร้อยละ 80 ของเมือง ถูกน้ำท่วมขังอยู่ในภาวะจมอยู่ใต้น้ำ ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงแก่อาคารบ้านเรือนและฐานขุดเจาะน้ำมัน โดยได้คร่าชีวิตคน 1,500 คน และสร้างความเสียหายแก่เมืองนี้ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวอย่างทั้งสองโครงการดังข้างต้น เป็นตัวอย่างองการเชื่อมโยงระบบการเรียนการสอนของฮาร์วาร์ด เข้ากับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังมุ่งให้เกิดการเตรียมพร้อมรับมือกับประเด็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย หากวิเคราะห์หลักการและแนวทางดำเนินงานของโครงการดังข้างต้น จะพบว่า มีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับมหาวิทยาลัยไทย ในการนำมาพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้ เพื่อเกิดประโยชน์แก่สังคมไทย ได้แก่

เป็นโครงการที่มุ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างอยู่ในฐานะของการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ คือ ในขณะที่ฮาร์วาร์ดได้รับการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้จากเดิมที่มีอยู่ ตลอดจนก้าวข้ามไปสู่พรมแดน ๆ ใหม่ในการเรียนรู้มากขึ้น ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เอง ต่างก็ได้รับองค์ความรู้ และแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงและมีความสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นตนเอง

เป็นโครงการที่มุ่งให้เกิดผลในภาคปฏิบัติ โดยสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง มีการเชื่อมโยงกันระหว่างองค์ความรู้ที่มีอยู่กับการทำงานในภาคปฏิบัติ ส่วนหนึ่งก็เพื่อแก้ไขปัญหาองค์ความรู้แบบหอคอยงาช้าง ที่มีแต่องค์ความรู้หรือมีคุณค่าในเชิงทฤษฎี แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคปฏิบัติ

เป็นโครงการที่เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนท้องถิ่น ฮาร์วาร์ดมีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกันระหว่างตนเองและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งแนวทางสำคัญประการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือ การเป็นหุ้นส่วนทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้ เพื่อจัดทำโครงงาน การพัฒนาหลักสูตรการสอน ตลอดจนการทำวิจัยร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการฝึกงาน การมีประสบการณ์จริงของนักศึกษาและบุคลากรของฮาร์วาร์ด

เป็นโครงการที่มุ่งมองเชิงอนาคตเพื่อเตรียมพร้อมอย่างเท่าทัน ฮาร์วาร์ดค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในเชิงอนาคต มุ่งไปในทิศทางของการป้องกันร่วมด้วยไม่ได้เน้นตั้งรับเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยฮาร์วาร์ดกับการมองไปในอนาคตว่า เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการยืนอยู่บนยอดคลื่นของการเปลี่ยนแปลงและการรักษาความเป็นเลิศ ซึ่งฮาร์วาร์ดตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นนี้และได้มีการพยายามริเริ่มดำเนินการในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง

บทบาทของมหาวิทยาลัยที่สำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงคือ การมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นในอนาคต โดยมหาวิทยาลัย เป็นแกนนำด้านการนำทิศทาง การพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัย รวมถึงการคาดการณ์มองอนาคต เพื่อนำสู่แนวทางการป้องกันหรือบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และใช้ประโยชน์สูงสุดจากอนาคตที่จะมาถึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น