วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

กระต่ายวิ่งช้าและตัวเล็กกว่าเสือ (เศรษฐกิจไทยปี 54)

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

หลายท่านถามผมว่าเศรษฐกิจปีนี้จะเป็นอย่างไร ผมคิดว่า "เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเป็นกระต่ายที่วิ่งช้า และตัวเล็กกว่าเสือ" กล่าวคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง เห็นได้จากข้อมูลเศรษฐกิจไทยล่าสุด ไตรมาสที่ 3/2553 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 6.7 คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 53 จะขยายตัว 6.8 – 7.8% ขณะที่ปี 54 จะขยายตัว 3.5 – 4.5% ซึ่งลดลงจากปี 53 โดยสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจปีกระต่ายที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเป็นผลมาจาก

ที่มาของภาพ http://www.animalliberationfront.com/News/AnimalPhotos/Animals_151-160/tiger_rabbits2.jpg


1) การส่งออกจะชะลอตัวลง

มูลค่าการส่งออกขยายตัวลดลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี 53 จากร้อยละ 41.8 ในไตรมาสที่ 2เหลือร้อยละ 22.2 ในไตรมาสที่ 3 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากอุทกภัยซึ่งทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหายอย่างหนัก ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบลดลงอย่างมาก


ตารางที่ 1 การขยายตัวของส่งออกของไทย (%การเปลี่ยนแปลงในรูป US$)
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย (30 พ.ย. 2553)

2) การบริโภคจะขยายตัวในระดับต่ำ

การบริโภคเริ่มชะลอตัวในช่วงปลายปี 53 เช่นเดียวกับการส่งออก ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ซึ่งประกอบด้วยดัชนีบ่งชี้การบริโภคหลายตัว เมื่อเทียบปีต่อปีขยายตัวลดลง (ตารางที่ 2) จากร้อยละ 3.1 ในเดือนกันยายน เหลือร้อยละ 2.3 ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบเดือนต่อเดือนหรือไตรมาสต่อไตรมาสซึ่งหดตัวมากขึ้น จากร้อยละ -0.4 ในเดือนกันยายน เป็นร้อยละ -1.2 ในเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ตาม ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ที่หดตัวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงเมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลการบริโภคในปี 54 จะขยายตัวในระดับต่ำ เนื่องจากแม้จะมีผลจากการมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการขึ้นค่าจ้าง, เงินเดือน ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรจะสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตลดลงจากผลกระทบในเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งทำให้รายได้ของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น

แม้ว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้การบริโภคของภาคเอกชนสูงขึ้นแต่ผลนั้นอาจถูกหักล้างด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มสูงขึ้น จากระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลทำให้การบริโภคชะลอตัว


ตารางที่ 2 Private Consumption Index (PCI)
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย (30 พ.ย. 2553)

3) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวดี

ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ในปี 2554 การลงทุนภาคเอกชนน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของวัฏจักรการลงทุน (Investment Recovery Cycle) นับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2549 เป็นต้นมา ฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง มีสภาพคล่องเพียงพอ สามารถสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น หลายอุตสาหกรรมมีการใช้อัตรากำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 70-80 จำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตลงทุนเพิ่ม นอกจากนี้การลงทุนภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน หรือ Public-Private Partnership (PPP) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2554 น่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น

4) การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ

การใช้จ่ายภาครัฐ ยังสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง รัฐบาลจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 จำนวน 2.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 จากปี 2553 ที่มีงบประมาณรายจ่าย จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท ที่สำคัญในปี งบประมาณ 2554 ได้ตั้งงบประมาณขาดดุลสูงถึง 4.2 แสนล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 4.1 ต่อจีดีพี สะท้อนว่า การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศนอกจากนี้ยังมีงบไทยเข้มแข็ง 2 ที่ตั้งไว้แล้ว สำหรับปี 54 จำนวน 510,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโครงการลงทุนจำนวนมาก รวมทั้งยังมีนโยบายที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างขรก. ครู ตำรวจ อบต. ส.ส. ส.ว.โครงการปฏิบัติการประชาภิวัฒน์ คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ การช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ แผงลอย ให้ทั้งหมดเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย เพิ่มสวัสดิการหลายอย่าง การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม เป็นต้น จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นได้บ้างในระดับหนึ่ง

จากแนวโน้วเศรษฐกิจในปี 54 ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวรับกับสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพื่อรองรับสถานะการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น