วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นแล้ว

ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวส่งสัญญาณให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐนั้นมีแนว โน้มไปในทิศทางที่เป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 9.1 ในเดือนสิงหาคม 2554 เหลือร้อยละ 8.2 ในเดือนมีนาคม 2555 หรือสัญญาณจากตลาดหุ้นที่กลับมามีชีวิตชีวามากขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบ หลายปีทั้งดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์และดัชนีแนสแดคในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เป็นต้น อย่างไรก็ตามท่ามกลางสัญญาณที่เป็นบวกนั้นยังคงมีปัจจัยที่น่ากังวลอีกหลาย ประการที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและปัญหาหนี้สาธารณะของหลาย ประเทศในสหภาพยุโรปซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั่วโลกได้

นอกจากสัญญาณและตัวชี้วัดข้างต้นที่มีการกล่าวถึงกันอยู่บ่อยครั้งแล้ว ในสหรัฐยังมีการจับสัญญาณภาวะเศรษฐกิจจากดัชนีชี้วัดอื่นๆ อีกหลายตัวที่น่าสนใจ เช่น

อัตราการใช้บริการร้านเสริมสวย เนื่องจากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำนั้น คนอเมริกัน (และน่าจะเหมือนกับคนชาติอื่นทั่วโลก) มีแนวโน้มที่จะเข้าร้านเสริมสวยและร้านตัดผมน้อยลง หลีกเลี่ยงการใช้บริการทำผมและไม่ใช่อุปกรณ์ตกแต่งผมที่มีราคาแพง (ซึ่งดูเหมือนเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย) แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการใช้บริการของร้านเสริมสวยในสหรัฐขยายตัวร้อยละ 5.4 ร้านเสริมสวยร้อยละ 34 ระบุว่าพวกเขาจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงเวลาปรกติ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะมาใช้บริการทุก 5 สัปดาห์ ขณะที่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำนั้นจะมาใช้บริการทุก 7 สัปดาห์ แต่ขณะนี้ความถี่ในการมาใช้บริการกลับมาอยู่ในช่วงก่อนเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว

ยอดขายชุดชั้นใน เป็นดัชนีที่สามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก ในภาวะปรกติชุดชั้นในมียอดขายค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ยอดขายชุดชั้นในปรับตัวลดลง โดยมีคำอธิบายว่า ชุดชั้นในเป็นของใช้ที่ใส่อยู่ภายใน ไม่มีใครเห็น ทำให้คนชะลอการซื้อสินค้าใหม่ออกไปก่อน จะเห็นได้ว่าคำอธิบายนั้นสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ในช่วงต้นปี 2552 ซึ่งเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ยอดขายชุดชั้นในลดลงร้อยละ 2.3 แต่ในปี 2554 ยอดขายชุดชั้นในขยายตัวร้อยละ 6.4 โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลาย

จำนวนการออกรอบตีกอล์ฟ การออกรอบตีกอล์ฟอาจเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ กล่าวคือเมื่อภาวะเศรษฐกิจดี คนมีรายได้ย่อมจะตีกอล์ฟเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจถดถอย คนจะตีกอล์ฟน้อยลง ดังเห็นได้จากในเดือนมกราคม ปี 2553 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวดีนัก จำนวนการออกรอบตีกอล์ฟลดลงร้อยละ 18.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ขณะที่เดือนมกราคม ปี 2555 ที่ผ่านมา จำนวนการออกรอบตีกอล์ฟเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21.4 ทั้งการออกรอบในแบบราคาปรกติและแบบพิเศษ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงแต่คนรวยเท่านั้นที่รู้สึกว่าพวกเขามี รายได้เพียงพอสำหรับการออกกำลังกายในรูปแบบนี้ แต่คนธรรมดาทั่วไปก็เช่นเดียวกัน

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น