วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

ทิศทางของระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

คอลัมน์ : แนวคิด ดร.แดน
ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่กับประเทศไทยยุคใหม่” ในการเสวนาวิชาการเรื่องวิสัยทัศน์ใหม่ประเทศไทย พ.ศ.2555 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิประเมินมูลค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ผมเห็นว่าประเด็นนี้มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงอยากนำมาแบ่งปันในบทความนี้
คำว่า “New World Order” ปรากฏในคำประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1991 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประกอบด้วย ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สภาพแวดล้อม การค้าเสรี และทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมาระเบียบเศรษฐกิจโลกได้ถูกกำหนดโดย 2 ขั้วมหาอำนาจคือสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และได้มีการผลักดันวาระที่ระบุในระเบียบโลกใหม่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การคว่ำบาตร การเจรจาการค้าภายใต้กรอบพหุภาคีและการเจรจาทวิภาคี การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เป็นต้น มหาอำนาจทั้งสองยังแบ่งสรรกันควบคุมองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก คือ ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

แนวโน้มในอนาคต ระเบียบเศรษฐกิจโลกอาจไม่ได้ถูกกำหนด

แต่แนวโน้มในอนาคต ระเบียบเศรษฐกิจโลกอาจไม่ได้ถูกกำหนดและผลักดันโดยสองขั้วอำนาจเดิมเท่านั้น แต่เศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economies) กำลังจะมีบทบาทในการกำหนดระเบียบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปกำลังเผชิญภาวะถดถอยจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตหนี้สาธารณะ ขณะที่เศรษฐกิจเกิดใหม่กลับขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่จะเกิดมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขั้วใหม่เกิดขึ้น

ขนาดของเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังจะแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้ว โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2554 ถึง 2568 เศรษฐกิจเกิดใหม่จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.3 ต่อปี โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และอาฟริกาใต้) มีส่วนทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในแต่ละปีถึงร้อยละ 45 ทั้งนี้ผมคาดการณ์ว่าภายในปี 2565 เศรษฐกิจจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อมหาอำนาจเดิมจะมีความสำคัญลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ส่วนแบ่งของการค้าระหว่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.9 ของมูลค่าการค้าโลกในปี 2553 เป็นร้อยละ 53.6 ในปี 2568 โดยเป็นการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเองในสัดส่วนที่สูง ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 1 ใน 3 มาจากประเทศกำลังพัฒนา

ปัจจุบัน ประเทศกำลังพัฒนามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันถึง 2 ใน 3 ของโลก แต่เนื่องด้วยความถดถอยของเศรษฐกิจอาจทำให้สหรัฐฯถูกลดอันดับเครดิตและทำให้เงินดอลลาร์ถูกลดความน่าเชื่อถือลงไป ประกอบกับความต้องการสกุลเงินของเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น จากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับนักลงทุนและบริษัทในประเทศกำลังพัฒนาออกไปทำการค้าและร่วมลงทุนเพื่อแสวงหาเงินทุนจากเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ มากขึ้น ทำให้ระบบการเงินโลกมีแนวโน้มเปลี่ยนเป็นระบบที่อิงเงินหลายสกุลจากเดิมที่อิงเงินดอลลาร์เป็นหลัก

กลุ่มประเทศ BRICS ยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปและปรับปรุงระบบการเงินโลก โดยเสนอให้ใช้ระบบเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีสกุลเงินกว้างมากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้มีตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนว่ากลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่เริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น กำลังก้าวขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจเดิม และต้องการเข้ามามีส่วนกำหนดระเบียบเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมา ระเบียบเศรษฐกิจโลกที่กำหนดขึ้นโดยสหรัฐฯและสหภาพยุโรปค่อนข้างสอดคล้องกัน เนื่องจากระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ทำให้ผลประโยชน์ของสหรัฐฯและ EU ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่สำหรับเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จึงมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากมหาอำนาจเดิม ซึ่งอาจทำให้เกิดการไม่ยอมรับระเบียบเศรษฐกิจที่ถูกกำหนดโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิม สังเกตได้จากการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าผ่านเวทีพหุภาคี (multilateral) ขับเคลื่อนเป็นไปได้ค่อนข้างช้ามาก

เศรษฐกิจเกิดใหม่จึงมีแนวโน้มรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและพยายามเข้าไปกำหนดระเบียบเศรษฐกิจโลกที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน ซึ่งทำให้มีแนวโน้มเกิดขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคต และจะส่งผลทำให้ระเบียบเศรษฐกิจโลกในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

สถานการณ์ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวมีความสำคัญต่อการก้าวเดินของประเทศไทยในอนาคต หากเรามีความเข้าใจสถานการณ์จะทำให้เราสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสและปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งบทความในครั้งต่อไป ผมจะวิเคราะห์ว่าระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่จะส่งผลกระทบและความท้าทายต่อประเทศไทยอย่างไร

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น