วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประการที่สอง การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจเกิดใหม่

โครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยผูกติดกับมหาอำนาจเศรษฐกิจเดิม ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าสัดส่วนการค้าและการลงทุนกับประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มลดลง แต่มูลค่าการค้ากับประเทศเหล่านี้ยังคงมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 32 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย และประเทศไทยยังพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในปี 2553

ขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีการขยายตัวสูงและมีศักยภาพเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตยังมีค่อนข้างน้อย แม้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มสูงขึ้น โดยมูลค่าการค้ากับประเทศจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 12 และมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากจีนคิดเป็นร้อยละ 8 แต่การค้าและการลงทุนกับอินเดีย รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ยังมีมูลค่าน้อยมาก ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ยังมีจำกัด และการสนับสนุนจากภาครัฐในการบุกเบิกตลาดเหล่านี้ยังจำกัด

ด้วยเหตุที่ไทยพึ่งพาตลาดเดิมสูงมาก ในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจเดิมอยู่ในภาวะถดถอย อาจดึงเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามไปด้วย ขณะที่ไทยยังมีความสัมพันธ์ค่อนข้างน้อยกับเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูง ทำให้มีข้อจำกัดหรือเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนกับประเทศที่มีศักยภาพเป็นมหาอำนาจใหม่

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ : ความท้าทายและผลกระทบต่อประเทศไทย
ประการแรก การแข่งขันที่รุนแรงจากเศรษฐกิจเกิดใหม่
ประการที่สอง การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจเกิดใหม่
ประการที่สาม การสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่
ประการที่สี่ การบริหารความเสี่ยงจากความซับซ้อนของเศรษฐกิจโลก
ประการที่ห้า การกีดกันทางการค้าและการช่วยเหลือโดยรัฐ
ประการที่หก การรักษาความมั่นคงและยั่งยืนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (1)
ประการที่หก การรักษาความมั่นคงและยั่งยืนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2)

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น