วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ดเข้มรับมือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตอนต้น

หลังจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้เริ่มแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกที่ประเทศแม็กซิโก ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2552 ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลกถึง 2,185 ราย เพิ่มขึ้นจาก 1,799 รายเมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกา 1,876 ราย เอเชียแปซิฟิก รั้งอันดับ 2 ที่ 203 ราย ยุโรปตามมาเป็นอันดับ 3 พบผู้เสียชีวิต 85 ราย ตะวันออกกลาง 10 ราย ส่วนแอฟริกามีทั้งสิ้น 11 คน ขณะที่แคเมอรูน มาดากัสการ์และโมซัมบิก ยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสเอช1เอ็น1รายแรกของแต่ละประเทศ

ปัจจุบันเชื้อไวรัสดังกล่าวได้แพร่ระบาดและส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ฮาร์วาร์ด ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ จนหน่วยงานของฮาร์วาร์ดที่เกี่ยวข้องดำเนินการวางแผนและกำหนดมาตรการเตรียมรับมือและเข้มงวดในการจัดการ

ความกังวลใจและความตื่นตัวดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ฮาร์วาร์ดพบกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในโรงเรียนทันตแพทย์แห่งฮาร์วาร์ด ระหว่างช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มากขึ้น โดยช่วงระยะแรกของการแพร่ระบาด ฮาร์วาร์ด เร่งหาแนวทางยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ แพร่ระบาดไปยังคณะหรือหน่วยงานอื่นภายในมหาวิทยาลัย

หน่วยงานหลักที่ฮาร์วาร์ดใช้เป็นฐานบัญชาการสำหรับการดูแลและป้องกันการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง University Health Services (UHS) และ University’s Incident Support Team (IST) มีภารกิจและแผนการดำเนินงาน ดังนี้

การสื่อสารการเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากไข้หวัดใหญ่ 2009 ผ่านทางอินเตอร์เน็ตและสายด่วนที่จัดทำขึ้นเฉพาะ การให้ข้อมูลข่าวสารนับได้ว่าเป็นแนวทางหลักประการสำคัญอันดับแรกที่ฮาร์วาร์ด เร่งรีบดำเนินการอย่างจริงจังภายในเพียง 4-5 วันที่มีการระบาด เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและช่วยยับยั้งการแพร่ระบาด โดยทำสื่อผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรเข้าถึงได้โดยง่ายและสะดวกรวดเร็ว โดยนักศึกษาและบุคลากร สามารถเข้าไปเช็คดูข้อมูลข่าวสารกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการแพร่ระบาดและป้องกันเชื้อไวรัสนี้ได้ตลอดเวลา

การจัดเตรียมที่พักที่ปลอดภัยให้กับนักศึกษา ซึ่งคาดว่าจะติดเชื้อไวรัสดังกล่าว หากเป็นนักศึกษาที่พักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยแต่อาจติดเชื้อไวรัสดังกล่าวด้วยนั้น ฮาร์วาร์ดจะดำเนินการจัดหาที่พักชั่วคราวให้พักแยกออกไปต่างหาก จนกว่าจะมั่นใจว่านักศึกษาดังกล่าว มีสภาพร่างกายที่อยู่ในสภาวะปกติ

ตอนต้น   ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น