วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ดเชื่อมความร่วมมือระหว่างคณะ มุ่งสร้างนวัตกรรมข้ามศาสตร์ ตอนจบ

ความร่วมมือระหว่างคณะในโครงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งที่มีการผลิตและพัฒนางานนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก จึงมีการพัฒนาโครงการความร่วมมือระหว่างคณะในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นจุดแกร่งของฮาร์วาร์ด และเป็นโครงงานที่เป็นแนวโน้มและความต้องการของโลกในทศวรรษหน้า เป็นงานสร้างรายได้และนวัตกรรมใหม่ของโลก ตัวอย่างคณะและสถาบันสำคัญที่อยู่ในโครงการความร่วมมือระหว่างคณะหรือสถาบัน ได้แก่ งานด้านสเต็มเซลล์ งานริเริ่มและพัมนานวัตกรรมทางคอมพิวเตอร์ งานด้านริเริ่มวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ควอนตัม งานด้านจุลินทรีย์ศาสตร์ งานด้านสุขภาพระดับโลก และงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (The Harvard University Science and Engineering Committee :HUSEC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.2007 มีภารกิจให้คำแนะนำการพัฒนางานด้านการสร้างความร่วมมือ การพัฒนางานข้ามศาสตร์ การทำงานร่วมกันระหว่างคณะ รวมถึงการดูแลงานในต่างประเทศทั่วโลกที่เกี่ยวข้อง โดยมีส่วนในการคิดริเริ่มโครงการ การพัฒนาความร่วมมือ การจัดสรรเงินทุนและทรัพยากรสนับสนุนศาสตร์สหวิทยาการที่เกิดใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงต่าง ๆ เป็นต้น สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.provost.harvard.edu/interfaculty_collaboration

ประยุกต์สู่การพัฒนามหาวิทยาลัยไทย
มหาวิทยาลัยในไทย มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงสร้างบริหารงานแยกเป็นรายคณะ ซึ่งแต่ละคณะจะค่อนข้างมีอิสระในการบริหารจัดการมากขึ้น แต่บางส่วนยังขึ้นกับส่วนกลางของมหาวิทยาลัย และยิ่งหากเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบราชการ ความเป็นอิสระของคณะในการบริหารจัดการจะมากขึ้น แต่ยังน้อยกว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

อย่างไรก็ตาม การสร้างความร่วมมือระหว่างคณะหรือสถาบันต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยไทย เริ่มมีความสำคัญขึ้นทุกขณะ เนื่องด้วยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นหรือความต้องการของสังคมที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับหลายศาสตร์มากขึ้น เช่น ความยากจน สิทธิมนุษย์ชน การแก้ปัญหาในชุมชน การพัฒนาค่านิยมและลักษณะของเด็กและเยาวชนไทย การแก้ไขปัญหาความรุนแรง ฯลฯ รวมถึงความต้องการนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิตของไทย เป็นต้น

ดังนั้น การพัฒนาความร่วมมือระหว่างคณะ จึงเป็นประเด็นแนวโน้มการบริหารมหาวิทยาลัยที่จำเป็นมากขึ้นในอนาคต ซึ่งมหาวิทยาลัยไทย ควรไม่ควรมองข้าม แต่เข้าใช้ประโยชน์สูงสุดจากแนวโน้มนี้ โดยการกำหนดสาขาความร่วมมือที่เป็นแนวโน้มอนาคตหรือมีความต้องการหรือแนวโน้มอนาคต การเน้นกลุ่มความร่วมมือที่เป็นสาขาจุดแกร่งของมหาวิทยาลัย การกำหนดรูปแบบและแนวทางความร่วมมือระหว่างคณะที่ชัดเจนและหลากหลาย การพัฒนาความร่วมมือระหว่างคณะในเชิงลึก การมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างคณะที่มีวัตถุประสงค์และแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน และการกำหนดการสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างเป็นระบบ และมีการหาแหล่งทรัพยากรสนับสนุนจากภายนอกมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ตอนต้น   ตอนจบ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

1 ความคิดเห็น: