กลุ่มประเทศ BRICS ยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปและปรับปรุงระบบการเงินโลก โดยเสนอให้ใช้ระบบเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีสกุลเงินกว้างมากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้มีตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนว่ากลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่เริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น กำลังก้าวขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจเดิม และต้องการเข้ามามีส่วนกำหนดระเบียบเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา ระเบียบเศรษฐกิจโลกที่กำหนดขึ้นโดยสหรัฐฯและสหภาพยุโรปค่อนข้างสอดคล้องกัน เนื่องจากระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ทำให้ผลประโยชน์ของสหรัฐฯและ EU ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่สำหรับเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จึงมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากมหาอำนาจเดิม ซึ่งอาจทำให้เกิดการไม่ยอมรับระเบียบเศรษฐกิจที่ถูกกำหนดโดยมหาอำนาจทาง เศรษฐกิจเดิม สังเกตได้จากการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าผ่านเวทีพหุภาคี (multilateral) ขับเคลื่อนเป็นไปได้ค่อนข้างช้ามาก
เศรษฐกิจเกิดใหม่จึงมีแนวโน้มรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และพยายามเข้าไปกำหนดระเบียบเศรษฐกิจโลกที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน ซึ่งทำให้มีแนวโน้มเกิดขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคต และจะส่งผลทำให้ระเบียบเศรษฐกิจโลกในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สถานการณ์ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวมีความสำคัญต่อการก้าวเดินของประเทศไทยในอนาคต หากเรามีความเข้าใจสถานการณ์จะทำให้เราสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสและ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งบทความในครั้งต่อไป ผมจะวิเคราะห์ว่าระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่จะส่งผลกระทบและความท้าทายต่อประเทศไทยอย่างไร
Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น