วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

คำแนะนำภาคปฏิบัติ เพื่อลูกอ่านหนังสืออย่างนักเรียนรู้

เน้นความสำคัญ - ขีดเส้นใต้ / ทำเครื่องหมาย / สร้างสัญลักษณ์ เหนือข้อความที่เราคิดว่าสำคัญ อาจวงกลมล้อมรอบข้อความสำคัญนั้น หรือ ใส่เครื่องหมาย * อยู่เหนือข้อความ ถ้าสำคัญมากและต้องกลับมาทบทวนอาจเพิ่มจำนวนเป็น *** ตามความสำคัญของเนื้อหา เมื่อเราขีดเส้นใต้ หรือทำเครื่องหมายตรงข้อความที่เราเห็นว่าสำคัญ เราจะรู้ถึงความคิดของผู้เขียนได้อย่างคมชัดมากยิ่งขึ้น

ทำความเข้าใจ - เขียนสรุปความ การสรุปสั้น ๆ ที่เราได้รับจากการอ่าน ไว้ ณ มุมใดมุมหนึ่งของหนังสือ เหมือนการที่เราปฏิสัมพันธ์กับผู้เขียน เราจะได้ยินเสียงของเรากำลังพูดกับผู้เขียนอยู่ อันเป็นการช่วยทำความเข้าใจ ช่วยในการจำ รวมทั้งช่วยประหยัดเวลาในการกลับมาทบทวนอีกครั้ง ทำให้ไม่ต้องอ่านใหม่ทั้งหมดอีกรอบ โดยให้ดึงเฉพาะประเด็นหรือคำสำคัญที่เราควรจดจำ อาจทำเป็นในรูปของตาราง รูปวาด สัญลักษณ์ หรือข้อความสั้น ๆ สรุปเป็นข้อ ๆ หรืออะไรก็ได้ตามจินตนาการที่จะช่วยให้เราจำได้และกลับมาทบทวนได้เร็วขึ้น

แสดงความคิดเห็น – เขียนสื่อสาร / ใช้ภาษาสัญลักษณ์ เราสามารถที่จะโต้แย้งกับผู้เขียนหรือเสนอความคิดเห็นใหม่ ๆ ความคิดเห็นที่แตกต่างเพิ่มเติมลงไปด้วย เป็นการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ เปิดมุมมองความคิดใหม่ ทัศนะที่เรามีต่อเรื่องที่เราอ่าน เช่น ขีดเส้นข้อความที่เห็นด้วย แล้วลากเส้นโยงออกมา เขียนไว้ว่า “ความคิดนี้สุดยอดจริง ๆ” “เรื่อง….ก็น่าจะเกี่ยวข้องด้วย”

ไม่เข้าใจ มีข้อสงสัย – ใส่เครื่องหมายคำถาม / เขียนข้อสงสัย ในส่วนเนื้อหาที่ไม่เข้าใจ เกิดความสงสัย ต้องค้นคว้าเพิ่มเติม หรือสอบถามผู้รู้ ให้ใส่เครื่องหมายคำถาม ? ไว้ และอาจเขียนกำกับไว้ด้วยว่าเราไม่เข้าใจอะไร หรือเขียนเป็นคำถามสั้น ๆ และอาจเขียนกำกับไว้ด้วยว่าจะต้องทำอะไรต่อไป เช่น “ถาม อ.” “ค้นในห้องสมุด” เป็นต้น

ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ – ใส่เครื่องหมาย / สัญลักษณ์พิเศษ สำหรับคำศัพท์ สำนวน หรือข้อความ ความคิดของผู้เขียนที่เราอยากจดจำเป็นพิเศษ เป็นความรู้ใหม่ที่เราได้รับเพิ่มเติมจากในเนื้อหา เราอาจใช้ปากกาสีที่แตกต่าง หรือทำเครื่องหมาย หรือทำสัญลักษณ์ที่จะช่วยให้เราจดจำได้


ผมมีความเชื่อว่า เด็กทุกคนมีความสามารถในการพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น มีสติปัญญามากขึ้นได้ หากได้รับการฝึกฝนในวิธีที่เหมาะสม และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง “การอ่านหนังสือ” เป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญยิ่ง การอ่านช่วยสร้างสมาธิ ช่วยพัฒนาความคิดจากการคิดใคร่ครวญ ย่อยสิ่งที่ผู้เขียนเป็นความเข้าใจ แต่การอ่านจะเพิ่มพูนความฉลาดและพัฒนาความคิดของลูกได้มากยิ่งขึ้น หากพ่อแม่มีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้หนังสือ และใช้ประโยชน์จากหนังสือนั้นให้คุ้มค่า

หนึ่งหน้าของหนังสือตำราเรียนของลูก อาจเต็มไปด้วยข้อความ สัญลักษณ์ การขีดเขียนเชื่อมโยงต่าง ๆ จนรู้สึกดูวุ่นวาย เลอะเทอะ ไม่น่าดู ไม่น่าอ่านในสายตาคนอื่น แต่แท้จริงแล้ว หนึ่งหน้านั้นอาจเต็มเปี่ยมไปด้วยการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ลูกได้รับ เป็นการเรียนรู้ที่ทั้งสนุกและสร้างสรรค์ ได้ทำความเข้าใจ ได้ใคร่ครวญ ได้คิด ได้ขีดเขียน ซึ่งคุ้มค่ากับการใช้หนังสือหนึ่งเล่ม และยิ่งมีมูลค่ามากกว่าหนังสือที่สะอาดสะอ้านและขายได้ราคา แต่ไม่มีคุณค่าในการเพิ่มพูนสติปัญญาแต่อย่างใด

จากหนังสือ แม่และเด็ก
ใช้หนังสือให้เป็น…ลูกเก่งและฉลาด ช่วงที่ 1
ใช้หนังสือให้เป็น…ลูกเก่งและฉลาด ช่วงที่ 2
ใช้หนังสือให้เป็น…ลูกเก่งและฉลาด ช่วงที่ 3
คำแนะนำภาคปฏิบัติ เพื่อลูกอ่านหนังสืออย่างนักเรียนรู้

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น