วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เตรียมรับ "ความเครียด" ภัยพิบัติชีวิต

เหตุการณ์หนึ่งที่มักเกิดขึ้นควบ คู่ไปกับการเร่งผลักดันให้ประเทศเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นคือ “ความเครียด” ที่เพิ่มขึ้นของคนในประเทศ และส่งผลให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจนของสถิติ “ผู้ป่วยทางจิต” ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“จีน” นับเป็นประเทศล่าสุดที่กำลังฉายภาพสะท้อนปรากฏการณ์นี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคม ทางการจีนได้เปิดเผยจำนวนผู้ป่วยทางจิตในประเทศ ขณะนี้มีมากถึงร้อยละ 7 หรือประมาณ 100 ล้านคน ต่อประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา ทุก ๆ 2 นาที จะมีชาวจีนฆ่าตัวตาย 1 คน เหตุผลเนื่องจากประชาชนต้องเผชิญแรงกดดันมากขึ้น ทั้งการทำงานที่เร่งรีบ การแข่งขันและแรงกดดันในสังคมที่เพิ่มขึ้น ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ขณะที่ภูมิคุ้มกันในจิตใจลดลง เมื่อเผชิญปัญหาที่เข้ามากระทบ จึงไม่สามารถแก้ไข

ข่าวนี้ทำให้ผมสะท้อนคิดถึงประเทศไทย ลมมรสุมความเครียดได้เริ่มก่อตัวและกำลังแผ่ขยายออกไปในวงกว้าง ขณะนี้คนไทยกำลังเผชิญความกดดันหลายด้านเช่นกัน ทั้งการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ สภาพสังคมที่เสื่อมโทรม สภาพครอบครัวล่มสลาย และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น กลับไม่มีทางออก ขาดผู้ให้คำปรึกษา ไม่มีใครช่วยเหลือ ทำให้ไม่สามารถรับแรงกดดันได้และมีปัญหาทางจิตในที่สุด

การส่งเสริมให้คนในสังคม “บริหารสุขภาพจิต” .ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับ การบริหารสุขภาพกาย หรือการออกกำลังกาย นับเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐควรให้ความสนใจ และหาแนวทางรูปธรรมในการส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับประชาชน ให้สามารถเอาชนะวิกฤตต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้

ในรายการ “คิดต่างกับ ดร.แดน แคนดู” ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 102 ผมได้เสนอแนะไว้ว่า ภาครัฐควรมีแนวทางพัฒนาให้คนในสังคม เห็นคุณค่าตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาเช่นไร โดยควรส่งเสริมในเรื่องต่อไปนี้

ส่งเสริมให้คนแสดงความสามารถ รัฐควรส่งเสริมการเปิดพื้นที่ให้คนได้แสดงออกในความสามารถด้านต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายและครอบคลุม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มอายุ และทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อให้คนในสังคมเห็นคุณค่าในความสามารถของตน

ส่งเสริมการรวมกลุ่ม อาทิ ส่งเสริมกิจกรรมชุมชน กิจกรรมหมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้านตามภูมิภาค และหมู่บ้านจัดสรร การให้คนรวมกลุ่มกันจะช่วยให้ทุกคนมีเพื่อนช่วยแบ่งปันความทุกข์ ความสุข และมีโอกาสใช้เวลาได้อย่างเกิดประโยชน์ร่วมกัน

ส่งเสริมให้ทำความดีเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม ที่สำคัญ ควรส่งเสริมให้คนในสังคมได้มีส่วนในการทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและ สังคมรอบข้าง เพราะเป็นความจริงที่ว่า การทำความดี แม้เพียงเล็กน้อย เช่น การช่วยพยุงผู้สูงอายุข้ามถนน สามารถทำให้เรามีความสุขได้ เป็นต้น การที่คนมีโอกาสทำดีมากขึ้น จะช่วยให้เขาเห็นคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเอง เกิดความรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย อันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดของคนในสังคมจากภาระประจำวันได้

ข้อเสนอเหล่านี้ แม้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาภาวะความเครียด แต่หากเราร่วมกันทำอย่างจริงจัง ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ร่วมกับวิธีการอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหา เช่น การส่งเสริมให้มีศูนย์ปรึกษาปัญหาต่าง ๆ อย่างทั่วถึง การส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว เป็นต้น โอกาสที่ปัญหาสุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาหลักของสังคมในอนาคต ย่อมลดน้อยลงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น