"ปัญหา" เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับใคร ๆ แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถหลีกพ้นได้ คนที่บอกว่าตัวเองไม่มีปัญหานั่นคือคนที่ได้หมดลมหายใจจากโลกนี้ไปแล้วนั่น เอง มนุษย์ทุกคนล้วนต้องเผชิญกับปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเงิน ปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงาน ปัญหาการว่างงานเนื่องจากการปิดสถานประกอบการหลายแห่งในปัจจุบัน ฯลฯ มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่มีปัญหาทั้งสิ้นจะมากจะน้อยต่างกันไป แต่สิ่งที่ต่างกันคือการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เลือกตอบสนองอย่างผู้ชนะหรือผู้พ่ายแพ้
สิ่งที่เป็นตัวกำหนดการตอบสนองต่อปัญหาใน ชีวิตของเราแต่ละคนคือ "มุมมอง"ของเราต่อปัญหาที่เกิดขึ้น คนจำนวนมากไม่สามารถเอาชนะปัญหาในชีวิตได้ เพราะมีมุมมองที่ผิดต่อปัญหาที่เผชิญอยู่ อาทิ ตอบสนองด้วยการ "ไม่รับรู้ปัญหา" คิดว่าปัญหาจะคลี่คลายได้โดยตัวมันเองไปในที่สุด...ตอบสนองด้วยการ "หนีปัญหา"คิด ว่าตนเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้แน่นอน บางคนอาจปลีกตัวจากสังคม บางคนอาจเก็บตัวอยู่ในโลกส่วนตัวไม่ข้องแวะกับใคร และที่ร้ายสุดคือหนีปัญหาโดยการปลิดชีวิตตนเองลง...ตอบสนองด้วยการ "จำใจเผชิญปัญหา" ด้วยถูกเงื่อนไขบางประการบีบคั้น จึงจำใจต้องเผชิญกับปัญหาที่มีอยู่ แต่เป็นการเผชิญด้วยมุมมองแง่ลบ เสียเวลาไปกับความท้อแท้ใจหรือการหาคนผิด มากกว่าความพยายามในการคิดแก้ปัญหา
มุมมองการตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าวล้วนแล้ว แต่ไม่ช่วยให้เราแก้ปัญหาใด ๆ ให้ลุล่วงไปได้เลย เราควรตระหนักว่าโลกทัศน์หรือมุมมองของเราแต่ละคนเป็นสิ่งที่กำหนดทัศนคติ ความเชื่อ และพฤติกรรมของเรา เราคิดอย่างไร เชื่ออย่างไร เราจะแสดงออกมาอย่างนั้น หากเรามองปัญหาด้วยมุมมองข้างต้น เราจะไม่อาจแก้ปัญหาได้หรืออาจแก้ผิดวิธี การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มต้นด้วยการ "เปลี่ยนมุมมอง" ถอนมุมมองเก่าที่ทำให้เราไม่สามารถเอาชนะปัญหาได้ออกไป แล้วแทนที่ด้วยมุมมองใหม่อันเป็นโลกทัศน์ "เชิงบวก" ได้แก่
มองว่า ปัญหาช่วยให้เกิดการ "พัฒนา"
ดุ๊ค อิลิงตัน ( Duke Ellington) นักดนตรีแจ๊ส ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของอเมริกากล่าวว่า "ปัญหาคือ โอกาสที่คุณจะได้ทำงานอย่างดีที่สุด" ข้อความนี้เป็นโลกทัศน์ที่ถูกต้องอย่างยิ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นตัวส่งสัญญาณบอกว่ามีสิ่งที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานความ ตั้งใจหรือสภาพที่พึงปรารถนา ปัญหาจึงช่วยสะท้อนให้เรารู้ว่าต้องมีการปรับปรุงแก้ไขสภาพบางอย่างให้กลับ สู่มาตรฐานที่ถูกต้อง จำเป็นต้องมีการลงมือปรับปรุงส่วนที่บกพร่องเสียใหม่ เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขส่วนที่บกพร่องแล้ว ผลที่ตามมาคือการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความก้าวหน้าต่อเนื่องไป ปัญหาจึงเป็นตัวสร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาได้เป็นอย่างดี
มองว่าปัญหาช่วยให้เกิด "ความคิดสร้างสรรค์"
โดยปกติคนเราจะทำงานหรือประพฤติปฏิบัติแต่ สิ่งเดิม ๆ ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง หากไม่มีบางสิ่งบางอย่างมา "กระตุ้น" ให้เกิดการฉุกคิดและทบทวนสิ่งเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เปรียบเสมือนการขับรถออกจากบ้านตามเส้นทางเดิมที่เคยชินอยู่ทุกวัน จนกระทั่งมีวันที่รถติดมากในเส้นทางนั้น ทำให้เราต้องคิดค้นหาเส้นทางอื่น ๆ ที่จะวิ่งไปสู่จุดหมาย ซึ่งอาจทำให้เราค้นพบเส้นทางใหม่ที่เร็วกว่าเส้นทางเดิมก็ได้ เหมือนที่ เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) นักประพันธ์ผู้มีชื่อชาวไอริชบอกไว้ว่า "ความผิดพลาดคือประตูไปสู่การค้นพบ" ปัญหาจึงเป็นตัวกระตุ้นให้เราไม่ทำแต่สิ่งเดิม ๆ อย่างที่มีคนเคยทำกันมา แต่เร่งเร้าให้เราริเริ่มเกิดการสร้างสรรค์แสวงหาเส้นทางใหม่แนวทางใหม่
มองว่า การแก้ปัญหาช่วยให้ "บรรลุเป้าหมาย"
เราอาจนิยามปัญหาว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด อุปสรรคในการบรรลุเป้าหมาย แต่หากมองอีกทางหนึ่ง เราจะพบว่าปัญหากลับเป็นตัวช่วยทำให้เราบรรลุเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นได้ ด้วย ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะว่า ยิ่งเราค้นพบปัญหาที่มีอยู่มากเท่าใด เรายิ่งค้นพบสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อช่วยนำเราสู่ทางที่บรรลุเป้าหมายมากขึ้น เท่านั้น เพราะปัญหาจะเป็นตัวบอกส่วนที่เรากำลังเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมาย การแก้ปัญหาจึงเป็นการแก้ไขความเบี่ยงเบนให้หันเหกลับมาสู่เป้าหมายที่ตั้ง ไว้
มองว่า ทุกปัญหาสามารถ "แก้ไขให้ลุล่วงได้"
โลกทัศน์นี้สำคัญมากที่สุด เพราะหากเราไม่มีความคิดความเชื่อเช่นนี้ เราจะยอมแพ้ต่อปัญหาในที่สุด โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับสภาพปัญหาที่ต้องใช้เวลาแก้ไขยาวนาน เราต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า "โลกนี้เป็นโลกแห่งปัญหา" แต่ขณะเดียวกัน ยังมีความจริงอีกแง่มุมหนึ่งที่ว่า "ไม่มีปัญหาใดที่แก้ไขไม่ได้" ทุกปัญหาล้วนแก้ไขได้ถ้าเราค้นหาสาเหตุที่แท้จริงพบ และเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธี ซึ่งแต่ละปัญหาล้วนมีความสลับซับซ้อนของรายละเอียดแตกต่างกัน จึงทำให้อาจต้องใช้เวลามากน้อยต่างกัน แต่ปัญหาที่ยากจะค่อย ๆ ถูกแก้ไขจนลุล่วงไปได้หากได้รับการแก้ไขอย่างถูกทิศทางและถูกวิธีการ โลกทัศน์แบบนี้จะสร้างพลังผลักดันให้เราสู้กับปัญหาอย่างมีกำลังใจและมีความ หวัง แทนที่จะเผชิญด้วยความหดหู่เศร้าซึมหมดหวัง เหมือนที่ วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์บอกไว้ว่า "คนฉลาดไม่เคยนั่งและร้องไห้หาสิ่งที่สูญเสียไป แต่เขาจะหาวิธีการปรับแต่งแก้ไขความเสียหายนั้นอย่างร่าเริง"
มุมมองเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นที่เรา ต้องเปลี่ยนแปลง ก่อนจะก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาในขั้นตอนต่อ ๆ ไป เพราะโลกทัศน์ที่ถูกต้องจะนำไปสู่การตอบสนองที่ถูกต้องต่อปัญหา เมื่อประกอบกับการเลือกใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธีแล้ว ไม่มีปัญหาใดที่ยากเกินกว่าความสามารถของเราในการจัดการได้อีกต่อไป
Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น