การคิดเชิงเปรียบเทียบ ช่วยฝึกทักษะ “เทียบเคียง” เหมือน-ต่าง เพื่อถอดหน้ากาก “ความต่าง” ใน “ความเหมือน”
ขณะเดียวกัน.. ช่วยฝึกทักษะเชื่อมโยง “ความเหมือน” ใน “ความต่าง” ปลดปล่อยศักยภาพการ “เปรียบเปรย” ของสมอง เพื่อการสรรสร้างผลงานสร้างสรรค์
ภาพรวมการคิดเชิงเปรียบเทียบ
การคิดเชิงเปรียบเทียบ นับเป็นการคิดที่ยังไม่มีคนกล่าวถึงมากนัก อาจจะมีการกล่าวรวม ๆ กันไปกับการวิเคราะห์บ้าง การอุปมาอุปไมยบ้าง ส่งผลให้ความรู้ความเข้าใจในการคิดเชิงเปรียบเทียบของคนทั่วไปค่อนข้างจำกัด ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงการคิดในมิตินี้มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งในชีวิต ประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา การตรวจสอบความจริง การตัดสินใจ การอธิบาย การประยุกต์ใช้และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ การคิดเหล่านี้ล้วนแต่ต้องผสมผสานมิติการคิดเชิงเปรียบเทียบร่วมด้วยเสมอ ความชำนาญในการเปรียบเทียบจะช่วยให้เป้าหมายการคิดที่ตั้งใจไว้ประสบความสำเร็จ
การคิดเชิงเปรียบเทียบเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือเพื่อพัฒนาทักษะการคิดอีกมิติหนึ่งที่คนทุกระดับในสังคมควร เรียนรู้ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นหนึ่งในหนังสือชุด “ผู้ชนะ 10 คิด” ซึ่งผมได้นำเสนอวิธีการคิด 10 มิติที่ช่วยพัฒนาให้คนในสังคม “คิดเป็น” การคิดเชิงเปรียบเทียบจะช่วยฝึกให้เราเป็นคนที่มีเหตุมีผล ไม่ด่วนสรุปตัดสินตามอารมณ์ความรู้สึก หรือพิจารณาอย่างผิวเผิน แต่จะช่วยให้ทราบว่าเรื่องใดและเมื่อใดควรเปรียบเทียบ และควรเปรียบเทียบอย่างไร นอกจากนี้ในอีกมุมหนึ่งการคิดเชิงเปรียบเทียบยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ ศักยภาพของสมองในการเชื่อมโยงมโนทัศน์เพื่อใช้ในการอธิบายและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ในส่วนของมิติการคิดเชิงเปรียบเทียบเล่มนี้มุ่งหมายให้ผู้ อ่านสามารถพัฒนาตนเองสู่การเป็น “นักคิดเชิงเปรียบเทียบ” ได้ เริ่มตั้งแต่เข้าใจความหมายของการเปรียบเทียบ การคิดเชิงเปรียบเทียบ การฝึกยืดหยุ่นความคิดเพื่อมุ่งสู่การเป็นนักคิดเชิงเปรียบเทียบ และการพัฒนาทักษะการคิดเชิงเปรียบเทียบในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพของสมองในการพิจารณาเทียบเคียงความเหมือนและ/หรือ ความแตกต่างระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ตอบสนองเป้าหมายที่ต้องการ
การคิดเชิงเปรียบเทียบเป็นทักษะการคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง การพัฒนาทักษะการคิดเชิงเปรียบเทียบจึงเหมาะสำหรับทุกกลุ่มคน ทุกเพศและทุกวัย
ความหมายของการเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบโดยทั่วไปสื่อความหมายได้ 2 ลักษณะ อันได้แก่ การเปรียบเทียบในลักษณะ “เทียบเคียง” และการเปรียบเทียบในลักษณะ “เปรียบเปรย”
การเปรียบเทียบในลักษณะ “เทียบเคียง”
การเปรียบเทียบใน ลักษณะนี้ หมายถึง การพิจารณาเทียบเคียงสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่สององค์ประกอบขึ้นไป เพื่อให้เห็นลักษณะที่เหมือนกันและแตกต่างกันระหว่างสิ่งเหล่านั้น
สิ่ง ต่าง ๆ ที่นำมาเปรียบเทียบอาจเป็นแนวความคิด การกระทำ เหตุการณ์ คน หรือวัตถุสิ่งของ ฯลฯ ตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไป จุดมุ่งหมายเพื่อจำแนกแจกแจงให้เห็นความเหมือนและ/หรือความแตกต่างกัน อาจแสดงเป็นภาพการเปรียบเทียบได้ดังนี้
Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น