วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ดกวดวิชานักเรียนมัธยมศึกษา

โครงการกวดวิชาภาคฤดูร้อน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเมืองเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Cambridge Harvard Summer Academy : CHSA) เปิดดำเนินการมากกว่า 9 ปีแล้ว โดยให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าร่วมกวดวิชาเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็น วิชาคณิตศาสตร์ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ชีววิทยา ฟิสิกส์ หรือ เคมี ซึ่งในทุก ๆ ปีจะมีนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วเมืองเคมบริดจ์เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ปีนี้ก็เช่นเดียวกันมีนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวนี้มากถึง 300 คน

โครงการกวดวิชาภาคฤดูร้อน ซึ่งเกิดมาจากความร่วมมือกันระหว่างฮาร์วาร์ดและเมืองเคมบริดจ์เป็นโครงการหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Harvard summer school ฮาร์วาร์ดจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้น มีภารกิจในการดูแลเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาคฤดูร้อนทั้งหมดของฮาร์วาร์ด ซึ่งในที่นี้ครอบคลุมไปถึงการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมภาคฤดูร้อนสำหรับกลุ่มนักเรียนทั่วไป

จุดเด่นของโครงการกวดวิชาภาคฤดูร้อน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเมืองเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือเป็นโครงการที่เปิดสอนให้กับนักเรียนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเปิดรับนักเรียนจากทุกโรงเรียนทั่วเมืองเคมบริดจ์ โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสพัฒนาการเรียนวิชาที่ตนไม่ถนัด หรือบางรายอาจเข้าร่วมเพื่อการพัฒนาการเรียนในวิชานั้น ๆ ให้ดีมากขึ้นไปอีก เพื่อการประสบความสำเร็จในการเรียน และเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ตัวอย่างหลักสูตรเช่น การจัดให้มีหลักสูตรพัฒนาความรู้ทางวิชาการ การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต และการพัฒนาภาษา ฯลฯ

ผู้สอนในโครงการนี้ล้วนมาจากอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งการรวมตัวของกลุ่มคนทั้งสองประเภทช่วยเสริมให้ศักยภาพในการสอนดีมากขึ้น เนื่องจากอาจารย์ที่มีประสบการณ์จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิควิธีการต่าง ๆ ให้กับนักศึกษาฝึกหัดได้นำไปสอนในห้องเรียน และนักศึกษาฝึกหัดเองต่างเป็นบุคลากรที่มีความกระตือรือร้นในการสอน พร้อมที่จะเรียนรู้และนำวิธีการสอนใหม่ ๆ ไปประยุกต์ให้กับผู้เรียน

การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติและความสนใจของกลุ่มนักเรียน
นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ต่างแสดงความพอใจต่อการเรียนการสอน เนื่องจากไม่เพียงได้ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมอย่างมีประโยชน์ และยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยได้รับจากในห้องเรียน เพราะผู้สอนเองมีวิธีการที่ช่วยให้นักเรียนทำความเข้าใจกับบทเรียน โดยการเชื่อมโยงสิ่งรอบตัวมาอธิบายให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์

โครงการดังกล่าว จึงได้ชื่อว่า เป็นโครงการที่ทำให้ทั้งฮาร์วาร์ดและเมืองเคมบริดจ์ ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนา และถูกเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ส่วนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่เพียงแต่ได้รับชื่อเสียง ยังได้แสดงศักยภาพด้านการศึกษาให้สังคมได้รับรู้ และยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาของตนได้ฝึกซ้อมในสนามจริงเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกไปสู่โลกการทำงาน 

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
การเชื่อมต่อมหาวิทยาลัยกับสถานศึกษา เป็นแนวคิดที่ผมเคยนำเสนอไว้ตั้งแต่ช่วงปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2542 ประเด็นสาระสำคัญคือ การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัย เป็นเสมือนพี่เลี้ยงในการดูแลด้านวิชาการหรือกิจกรรมของโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง หรือที่อยู่รายรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งจะไม่เพียงช่วยเหลือหรือพัฒนาสถานศึกษาหรือผู้เรียนในสถานศึกษาแห่งนั้นเท่านั้น แต่ยังมีส่วนพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัยผ่านกิจกรรมที่เชื่อมต่อกับโรงเรียน อีกทั้งยังเป็นการเปิดทางและมีส่วนในการดึงดูดเด็กเก่งเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้เช่นกัน โดยมหาวิทยาลัยควรสนับสนุนให้คณะต่าง ๆ ใช้จุดเด่นหรือความเชี่ยวชาญของตน ในการพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น การจัดการสอนหนังสือ การพัฒนาสื่อการสอน การพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย หรือการมีส่วนช่วยพัฒนาระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่สู่สถานศึกษา เป็นต้น โดยมีการทำกิจกรรมอย่างเป็นระบบ และมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพชัดเจน

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น