วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คดีรถตู้ สู่ความปลอดภัยบนท้องถนน

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com/

การเมาแล้วขับนับเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของการเกิดอุบัติภัยบนท้องถนน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด (คิดเป็น 18.83%) การตัดหน้ากระชั้นชิด (คิดเป็น 17.17%) การไม่ให้สัญญาณออก/ซอย/เลี้ยว (คิดเป็น 3.65%) การขับรถผิดช่องทาง (คิดเป็น 2.82%) การฝ่าฝืนป้ายหยุด (คิดเป็น 2.69%) การไม่ขับรถในช่องซ้ายสุด (คิดเป็น 2.46%) การขับรถไม่ชำนาญ (คิดเป็น 1.76%) และไม่ให้รถมีสิทธิไปก่อน (คิดเป็น 1.76%)


ที่มาของภาพ - http://dme.ap.nic.in/traffic_accident.jpg

จากสถิติสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติภัยบนท้องถนนที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ ช่วยชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า การขาดวินัยในการจราจรถือเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุ ซึ่งมิเพียงจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนที่ประสบอุบัติภัย ที่ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น หากแต่ยังอาจส่งผลถึงญาติพี่น้องและครอบครัวของผู้ประสบภัยด้วย เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนนในประเทศไทยนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างวินัยจราจรให้มากยิ่งขึ้นด้วย


อย่างไรก็ตาม แนวทางภาคปฏิบัติคงมิได้หมายความเพียงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบังคับใช้วินัยจราจรให้กับเยาวชน และบุคคลโดยทั่วไปเท่านั้น แม้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเยาวชน แต่สิ่งสำคัญที่ควรดำเนินการเลยคือ การหาแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำมาดำเนินการควบคุม หรือลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายจราจรอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างเช่นในรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ที่ได้เอาจริงเอาจังกับการติดตั้งกล้องถ่ายภาพตรวจจับรถที่ขับด้วยความเร็วเกินกำหนด และการใช้นโยบายดักจับความเร็วให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วทั้งเมืองในปี 2532 ได้ส่งผลให้สามารถลดจำนวนอุบัติภัยในท้องถนนได้ถึงร้อยละ 30


ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการมุ่งแก้ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ขับรถเร็วเกินกำหนด และผู้ที่ทำผิดวินัยจราจรทุกประเภท โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความเร็วที่ทันสมัย กล้องถ่ายภาพจับความเร็ว เชื่อมโยงไปกับระบบการออกใบสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์ และการต่อทะเบียนรถ น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกให้ความสำคัญมากกว่านี้ ควบคู่ไปกับการรณรงค์เมาไม่ขับเพื่อลดอุบัติภัยบนท้องถนน

มาตรการที่เข้มงวดทางกฎหมายและการเอาจริงเอาจังของตำรวจจราจร จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ผู้ใช้ท้องถนนรู้จักการเคารพสิทธิของกันและกันมากขึ้น เพื่อท้องถนนและการจราจรในประเทศไทยจะมีความปลอดภัยมากขึ้น

* นำมาจากหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น