บทความจาก Professor Dr.Kriengsak Chareonwongsak
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com/
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com/
เมื่อวันที่ 25 ถึง 27 กรกฏาคม ที่ผ่านมามีการประชุมที่ใหญ่มาก เป็นการประชุมกันระหว่างนักธุรกิจจีนและไทย ที่เมืองพัทยา โดยเป็นการร่วมมือระหว่างสมาคมนักธุรกิจของไทย คือ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน และสมาคมนักธุรกิจของจีน ชื่อ สมาคมนักธุรกิจยอดเยี่ยมเชื้อสายจีนทั่วโลก
ที่มา http://board.212cafe.com/user_board/tony/picture/00411_5.jpg
จุดที่ทำให้การประชุมครั้งนี้เป็นที่สนใจมากเพราะมีผู้ร่วมประชุมระดับนาย หลิว หยง ห่าว (Liu Yonghao) ซึ่งประธานกลุ่มธุรกิจ New Hope Group ที่มีฐานอยู่ที่เมืองเฉิงตู่ มณฑลเสฉวน และเติบโตขึ้นมาจากธุรกิจอาหารสัตว์ ตัวนายหลิว หยง ห่าวเองเป็นหนึ่งในพี่น้องตระกูลหลิวที่นิตยสาร Forbes จัดให้เป็นคนที่รวยที่สุดของจีนในปี 2001
เมื่อเสร็จสิ้นงาน รมว. อุตสาหกรรม ได้สรุปการประชุมครั้งนี้ว่ามีการจับคุ่เจรจาทางธุรกิจได้ถึง 53 คู่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนถึง 6,200 ดอลลาร์ หรือ 211,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ไปแล้ว 9 คู่ โดยคู่ที่คนจับตามองมากที่สุด คือคู่ของสหฟาร์มกับ New Hope Group โดย New Hope Group จะนำเงิน 7,000 ล้านบาทเพื่อเข้ามาลงทุนร่วมกับสหฟาร์ม ซึ่งจะทำให้สหฟาร์มมีกำลังการผลิตเพื่อส่งออกไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นเป็น 1,000,000 ตัวต่อวัน เพิ่มจากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 500,000 ต่อวัน
ข่าวนี้นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีต่อเศรษฐกิจไทยที่จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมาก ขึ้น เพราะเมื่อเงินลงทุนเข้ามาก็เกิดการจ้างงาน เมื่อคนงานท้องถิ่นมีรายได้ก็จะเกิดการใช้จ่ายซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจใน ประเทศ
ผมวิเคราะห์ว่าการที่เกิดการเจรจาใหญ่ๆ เช่นนี้ได้น่าจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งคือรัฐบาลจีนสนับสนุนให้นักธุรกิจไปลงทุน ในต่างประเทศด้วย ทั้งที่ปกติรัฐบาลน่าจะส่งเสริมให้นักธุรกิจลงทุนในบ้านตนเอง แต่รัฐบาลจีนมีแรงจูงใจอันใดที่จะส่งเสริมให้นักธุรกิจไปลงทุนต่างประเทศ?
จริงๆ แล้วการลงทุนต่างประเทศของนักธุรกิจของจีนมิได้ให้ประโยชน์แก่ตัวนักลงทุน เองเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกของจีนด้วยทางอ้อม ผ่านการที่ช่วยทำให้ค่าเงินหยวนของจีนไม่แข็งค่าเกินไป
เราคงทราบกันว่าในการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนนั้น ตัวจักรสำคัญคือการส่งออกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกด้านหนึ่งการส่งออกที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็ทำให้จีนมีดุลการค้าเป็น บวกอย่างมหาศาลด้วยซึ่งดูเผินๆ ก็เหมือนน่าจะดี แต่การเกินดุลการค้ามากมายเช่นนี้ หากรัฐบาลจีนไม่จัดการอะไร สุดท้ายก็จะทำให้ค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าเรื่อยๆ เช่นเดียวเหมือนกับค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนแก้ป้องกันค่าเงินหยวนแข็งจากการที่มีเงิน “ไหลเข้า” ประเทศจีนมากโดยการให้เงิน “ไหลออก” ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจำนวนมหาศาล แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันเครดิตและความน่าเชื่อถือของสหรัฐต่ำลง เพราะทั้งวิกฤติเศรษฐกิจและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาล หากรัฐบาลจีนยังคงแทรกแซงให้เงิน “ไหลออก” โดยวิธีการซื้อพันธบัตรสหรัฐจำนวนมากเช่นเดิมก็อาจเป็นความเสี่ยงของประเทศ ได้
ดังนั้น ผมจึงมองว่าหากรัฐบาลจีนมีแรงจูงใจที่จะส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนมาลงทุนใน ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย เพราะนโยบายดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ประเทศไทยก็ได้เงินลงทุนจากต่างชาติ นักธุรกิจไทยก็มีเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจได้ นักธุรกิจจีนก็ได้ผลตอบแทนที่ดี และเศรษฐกิจมหภาคของจีนก็ได้ผลดีทางอ้อมผ่านการรักษาค่าเงินหยวนมิให้แข็งไป
ผมคาดการณ์ว่า กระแสการลงทุนจากจีนเข้ามาไทยไม่ใช่จะมีเพียงเท่านี้ ผมคาดว่านักธุรกิจจีนน่าจะสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเรื่อยๆ และรัฐบาลจีนก็น่าจะส่งเสริมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีกระแสของผลประโยชน์ที่กำลังจะไหลมา คำถามก็คือ แล้วรัฐบาลไทยควรทำอะไรบ้าง ถึงแม้ประเทศไทยจะดูน่าลงทุน เพราะไทยมีจุดแข็งที่ภาคเกษตรและยังมีโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบทางหลวง (highway) ที่ดี แต่ผมมองจุดที่รัฐบาลต้องเตรียมตัวเพื่อให้สามารถรองรับประโยชน์จากการลงทุน ของจีนที่กำลังจะมาดังนี้
ประการแรก นักลงทุนของจีนเหมือนนักลงทุนชาติอื่น ที่กลัวการไม่มีเสถียรภาพของการเมืองไทยที่อาจส่งผลให้เกิดความไม่มี เสถียรภาพของนโยบายด้วย ถ้ารัฐบาลแก้จุดคานงัดอันนี้ไม่ได้ ประเทศจะเดินไปไหนไม่ได้เลย
อีกประการคือผมคิดว่า การสอนภาษาต่างประเทศในระบบการศึกษาของไทยยังปรับตัวไม่ทันเพราะภาษาเป็น ปัจจัยที่สำคัญมากในการสื่อสาร แม้ปัจจุบันภาษาจีนจะเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าในประเทศไทยมีผู้รู้ภาษาจีนน้อยอยู่ เพราะระบบการสอนภาษาของไทยนั้นไม่ตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ เช่น หลักสูตรของการเรียนสายศิลป์-ภาษา นั้นยังมีลักษณะอนุรักษ์นิยม คือมักจะให้นักเรียนเรียนภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาเยอรมัน ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อย
หากเราคิดในเชิงเศรษฐกิจ การสอนภาษาต่างประเทศควรสนับสนุนการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งผมคิดว่ามี 4 ภาษาที่ต่อไปควรมีการเรียนการสอนให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการค้า และการลงทุนของไทย นั่นคือภาษาจีน ภาษาอินเดีย ภาษารัสเซีย และภาษาโปรตุเกส (ประเทศบราซิล) เนื่องจาก 4 ประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตประเทศไทยจะต้องติดต่อกับ 4 ประเทศนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน
เมื่อโลกหมุนเร็ว เราก็ต้องเดินให้เร็วขึ้นครับ
** นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2552
จีนขยับนิดเดียว กระเทือนไปทั่วจริงๆ
ตอบลบ