วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

ผู้หญิงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ผู้หญิงเป็นกลุ่มคนสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 การเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงมีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลาย ประเทศ อย่างไรก็ตามผู้หญิงจำนวนมากในโลก จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิงวัยทำงานทั่วโลกยังคงไม่มีงานทำ ในช่วงเวลาที่รัฐบาลทั่วโลกแสวงหาแนวทางระยะสั้นและระยะยาวในการพัฒนา เศรษฐกิจ การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจไปยังกลุ่มผู้หญิงจำนวนกว่า 1.5 พันล้านคนซึ่งไม่ได้ถูกจ้างงานในระบบ รวมทั้งการขจัดอุปสรรคกีดขวางทางสังคม ทางการศึกษา ทางกฎหมาย และทางการเงิน ในกลุ่มผู้หญิงจึงเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง


ด้วยเหตุนี้เพื่อวัดความก้าวหน้าในการพัฒนาทางเศรษฐกิจในกลุ่มผู้หญิง Economist Intelligence Unit จึงได้สร้างดัชนีวัดโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิง (Women’s Economic Opportunity (WEO) Index) โดยพิจารณาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ประการหลัก คือ 1) นโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านแรงงาน (เช่น มีการแบ่งแยกทางเพศในการรับคนเข้าทำงานหรือไม่) 2) การเข้าถึงแหล่งทุนของผู้หญิง 3) การศึกษาและการฝึกอบรมของผู้หญิง 4) กฎหมายที่เกี่ยวข้องและสถานะทางสังคมของผู้หญิง และ 5) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยทั่วไป (เช่น ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงเทคโนโลยีและพลังงาน เป็นต้น) โดยในแต่ละประเด็นนั้นมีดัชนีย่อยเป็นองค์ประกอบอีกหลายประการ

การจัดทำดัชนีนี้เก็บข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากสหประชาชาติ (UN) หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น โดยเก็บข้อมูลจาก 128 ประเทศโดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย รายงานการจัดอันดับในปี 2012 ประเทศที่ติด 5 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน นอรเวย์ ฟินแลนด์ เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 47 ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่ดีมากในอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ อันดับที่ 31 (ขณะที่มาเลเซียอยู่อันดับที่ 53 ฟิลิปปินส์ 74 อินโดนีเซีย 85 เวียดนาม 87 กัมพูชา 96 และ ลาว 109) นอกจากนี้ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ (Lower middle income) ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลอยู่ที่ 976 – 3,855 เหรียญสหรัฐต่อปี ที่นำมาจัดอันดับ 39 ประเทศ ประเทศไทยถือเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 60.1 (จาก 100) โดยดัชนีมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ร้อยละ 2.6 จากปี 2010

หากพิจารณาการมีโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงไทย ในปี 2553 พบว่าอยู่ในระดับที่ดี อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 64.3 ซึ่งต่ำกว่าผู้ชายที่มีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานร้อยละ 80.7 ขณะที่อัตราการว่างงานของผู้หญิงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.0 หรือประมาณ 175,900 คน ซึ่งน้อยกว่าผู้ชายที่อัตราการว่างงานของเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 หรือประมาณ 226,300 คน และหากพิจารณาการทำงานในภาครัฐจะพบว่าผู้หญิงทำงานในภาครัฐค่อนข้างสูงกว่าผู้ชาย ในระดับ 1 – 3 ระดับ 4 – 6 และระดับ 7 – 8 ผู้หญิงจะมีสัดส่วนสูงกว่าผู้ชาย ขณะที่ระดับ 9 – 11 ผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง

การที่ผู้หญิงไทยมี การพัฒนาทางเศรษฐกิจก้าวหน้ากว่าหลายประเทศ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้จึงมีการ กำหนดแผนพัฒนาผู้หญิงให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมาถึงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนตื่นตัว มีการรวมตัวเป็นองค์กรหรือกลไกการพัฒนาผู้หญิงทุกระดับ ประกอบกับการที่รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างดำเนินโครงการที่เอื้ออำนวย ซึ่งล่าสุดได้แก่ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ของรัฐบาล ซึ่งจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการนี้ไว้สูงถึง 7,700 ล้านบาทหรือเฉลี่ย 100 ล้านต่อจังหวัด นโยบายนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มผู้หญิงหากกองทุนมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การดำเนินงานมีความโปร่งใส ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงกองทุนได้อย่างเต็มที่

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น