วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทิศทางของเศรษฐกิจโลกใหม่ (1)

ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่กับประเทศไทยยุคใหม่” ในการเสวนาวิชาการเรื่องวิสัยทัศน์ใหม่ประเทศไทย พ.ศ.2555 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิประเมินมูลค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ผมเห็นว่าประเด็นนี้มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงอยากนำมาแบ่งปันในบทความนี้

คำว่า “New World Order” ปรากฏในคำประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1991 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประกอบด้วย ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สภาพแวดล้อม การค้าเสรี และทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมาระเบียบเศรษฐกิจโลกได้ถูกกำหนดโดย 2 ขั้วมหาอำนาจคือสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และได้มีการผลักดันวาระที่ระบุในระเบียบโลกใหม่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การคว่ำบาตร การเจรจาการค้าภายใต้กรอบพหุภาคีและการเจรจาทวิภาคี การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เป็นต้น มหาอำนาจทั้งสองยังแบ่งสรรกันควบคุมองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก คือ ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

แต่แนวโน้มในอนาคต ระเบียบเศรษฐกิจโลกอาจไม่ได้ถูกกำหนดและผลักดันโดยสองขั้วอำนาจเดิมเท่านั้น แต่เศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economies) กำลังจะมีบทบาทในการกำหนดระเบียบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปกำลังเผชิญภาวะถดถอยจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตหนี้สาธารณะ ขณะที่เศรษฐกิจเกิดใหม่กลับขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่จะเกิดมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขั้วใหม่เกิดขึ้น

ขนาดของเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังจะแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้ว โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2554 ถึง 2568 เศรษฐกิจเกิดใหม่จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.3 ต่อปี โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และอาฟริกาใต้) มีส่วนทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในแต่ละปีถึงร้อยละ 45 ทั้งนี้ผมคาดการณ์ว่าภายในปี 2565 เศรษฐกิจจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อมหาอำนาจเดิมจะมีความสำคัญลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ส่วนแบ่งของการค้าระหว่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.9 ของมูลค่าการค้าโลกในปี 2553 เป็นร้อยละ 53.6 ในปี 2568 โดยเป็นการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเองในสัดส่วนที่สูง ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 1 ใน 3 มาจากประเทศกำลังพัฒนา


Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น