วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รู้จักเลือกสิ่งที่จะเรียนรู้

เซอร์อาร์เธอร์ โคแนน ดอยซ์ ผู้สร้างตำนานนวนิยายสืบสวนสอบสวน “เชอร์ ล็อก โฮล์มส” ที่รู้จักกันทั่วโลก ในเรื่อง A Study in Scarlet เขาเขียนบทให้เชอร์ ล็อก โฮล์มส กล่าวว่า

“ผมคิดว่าสมองของคนเราแต่แรกเริ่มนั้นก็เปรียบเสมือนห้องเก็บของว่าง ๆ นั่นแหละ คุณต้องเป็นคนเลือกเฟอร์นิเจอร์ใส่เข้าไปด้วยตัวคุณเอง คนโง่เขลาจะคว้าเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาพบใส่เข้าไปในนั้น ดังนั้นความรู้ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อเขาก็ถูกเตะกระเด็นออกมา หรือไม่ก็ผสมปนเปกับขยะอื่น ๆ มากมาย ทำให้เขาไม่สามารถเอามันออกมาใช้ได้ แต่สำหรับคนฉลาดแล้ว เขาจะเลือกสิ่งที่จะใส่เข้าไปในคลังสมองของเขาอย่างระมัดระวัง และจะเก็บไว้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการทำงานของเขาเท่านั้น เขาจะเก็บมันได้เป็นจำนวนมาก และจัดระเบียบไว้เป็นอย่างดี”

คนที่หิวกระหายการเรียนรู้อาจไม่ใช่นักเรียนรู้ที่ฉลาด คนที่ฉลาดนั้นรู้ว่าเขาควรจะเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง แต่คนโง่เขลานั้นเรียนรู้ทุกสิ่ง ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องอาจไม่จำเป็น ดังนั้น เราจึงควรรู้ว่าเรื่องใดควรค่าแก่การเรียนรู้ และควรจัดระเบียบสิ่งที่เรียนรู้นั้นอย่างไรเพื่อไม่ให้ลืม แต่สามารถหยิบมาใช้ประโยชน์ได้ในเวลาที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรด่วนตัดสินว่าเรื่องใดไม่ควรเรียนรู้ แต่ควรถามตนเองในลักษณะ 2 ทางย้อนกลับ คือ ในความเป็นเรา….เราควรเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง เพราะเหตุใด ขณะเดียวกัน เมื่อมีเรื่องต่าง ๆ ปะทะเข้ามา…เราควรถามตนเองว่า เราควรเรียนรู้เรื่องนี้หรือไม่ จะก่อประโยชน์ใดกับชีวิตของเรา ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว เราควรใช้เวลาเพื่อเรียนรู้เรื่องนี้ หรือไปเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ จะคุ้มค่าแก่เวลามากกว่า

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น