วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปีเตอร์ กาดอล ผู้ประยุกต์งานเขียนจากการเรียนรู้สิ่งรอบตัว

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ปีเตอร์ กาดอล (Peter Gadol) นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานจากประสบการณ์รอบตัว และมีแนวทางการนำเสนอที่ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพสังคมในขณะนั้น ถูกยกย่องให้เป็นนักเขียนที่เต็มไปด้วยพลัง และมีเอกลักษณ์ของตนเอง ในการสะท้อนค่านิยม และสภาวะของสังคมผ่านงานเขียนของเขา

การก้าวสู่วงการน้ำหมึกของ ปีเตอร์ กาดอล เริ่มต้นที่ฮาร์วาร์ด ขณะที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งสนใจภาษาอังกฤษและวรรณคดีอเมริกัน เขาได้ฝึกฝนทักษะการเขียนผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยการเข้าร่วมงานกับนิตยสารด้านวรรณกรรมเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยคือ “ฮาร์วาร์ด แอดโวเคต” (The Harvard Advocate) และฝึกงานกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “ดิ แอทแลนติค” (The Atlantic) ถึงสองปี 

ในขณะที่การเรียนในห้องเรียนนับว่า เป็นผู้เรียนที่มีความมุ่งใน เอาจริงเอาจัง และขวนขวายที่จะใกล้ชิดกับอาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านงานเขียน เพื่อซึมซับความรู้ แนวทางการทำงานจากบุคคลเหล่านั้น เช่น การเลือกเรียนวิชาการเขียน จากอาจารย์ชื่อดัง เซมัส เฮนนีย์ (Seamus Heaney) และอาจารย์ที่ปรึกษาอย่าง เฮเลน เวนด์เลอร์ (Helen Vendler) ซึ่งแต่ละท่านได้ชื่อว่า มีชื่อเสียงในวงการนักเขียนและวรรณกรรม

ผลจากการมุ่งมั่นในการเรียน ทำให้ ปีเตอร์ กาดอล จบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยม จากฮาร์วาร์ด ในปี ค.ศ.1986 และได้เริ่มต้นเป็นนักเขียนมืออาชีพในเวลาต่อมา

ภายหลังจากจบการศึกษา 4 ปี เขามีผลงานที่เป็นหนังสือชิ้นแรกออกสู่สายตานักอ่านคือ “Coyote” โดยได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์ ลอส แองเจลลิส ไทม์ ว่า เป็นงานเขียนที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง ต่อมา ค.ศ.1993 นิยายเล่มที่สองของเขาถูกตีพิมพ์ และกลายเป็นที่กล่าวขวัญว่า “The Mystery Roast” เป็นนวนิยายที่ผสมผสานเรื่องราวของความรักโรแมนติค ความลึกลับและความฝันออกมาได้อย่างลงตัว

ผลงานที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ และแรงบันดาลใจ ที่เขาได้รับจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทำให้งานเขียนของเขามีความน่าสนใจมากขึ้น และเต็มเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถผนวกเอาเรื่องราวในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวผู้อ่าน มาทำให้เกิดเรื่องราวที่น่าติดตาม

นิยายเกือบทุกเล่มของเขาได้รับการยกย่องจากสื่อว่า เป็นงานเขียนที่ทันสมัย สะท้อนภาพของสังคมออกมาได้อย่างน่าสนใจ และมีผลงานอย่างน้อย 2 เรื่อง ที่ถูกนำไปตีพิมพ์ในหลายภาษา 

แม้ว่าขณะนี้ ปีเตอร์ กาดอล จะเป็นอาจารย์สอนด้านการเขียนให้กับวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบโอทิส (Otis College of Art and Design) โดยก่อนหน้านั้นเขาได้รับเชิญให้สอนการเขียนที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (UCLA) แต่ยังคงมีผลงานให้นักกอ่านได้ติดตามอยู่เนือง ๆ โดยเมื่อสิงหาคม ค.ศ.2009 เขาจะตีพิมพ์ “Silver Lake” ซึ่งเป็นนวนิยายเล่มที่ 6 ของเขา

ชีวิตของปีเตอร์ กาดอล ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจแก่เราว่า ความรู้และประสบการณ์ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของความก้าวหน้าในชีวิตของเรา สิ่งสำคัญคือ เราต้องเรียนรู้ที่จะย่อย หรือทำความเข้าใจข้อมูล ความรู้ที่เราได้รับ และนำมาเพิ่มทุนความรู้ โดยการประยุกต์ใช้ประโยชน์แก่ชีวิตได้ ผ่านการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ดังนี้

เรียนรู้ตลอดชีวิต มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง หมั่นแสวงหา ค้นคว้าข้อมูล อ่าน ทำความเข้าใจ เรียนรู้อยู่เสมอ สนใจและตื่นเต้นในการค้นพบสิ่งใหม่

ลักษณะชีวิตดังกล่าว จะเป็นส่วนสนับสนุนให้ชีวิตประสบความสำเร็จ เนื่องจากจะเป็นบุคคลที่ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไปอย่างไร้คุณค่า แต่แสวงหาความรู้อยู่เสมอ แม้ไม่มีใครป้อนความรู้ให้ ก็สามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้เอง

ย่อยความรู้เป็นความเข้าใจ ความรู้ ข้อมูลที่เราได้รับทั้งจากการศึกษาในระบบ หรือ การแสวงหาความรู้ของตนเองนั้น หากเรารับโดยปราศจากความเข้าใจ อาจส่งผลทำให้ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ กลายเป็นเพียงการเรียนจึงเป็นเพียงการเรียนรู้ทฤษฎีที่ไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ

เราควรเป็นผู้เรียนที่เมื่อได้รับข้อมูลมา จะต้องพยายามทำความเข้าใจ กับสิ่งที่รับมา และเพิ่มความอยากรู้ อยากเห็น อยากเข้าใจลงไปในการเรียนรู้ของเรา ซึ่งจะทำให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะต่อยอด เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความเก่าที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป 

ตกผลึกเป็นความรู้ใหม่ที่ค้นพบ นั่นคือ พยายามทำความเข้าใจ วิพากษ์เรื่องที่รับรู้ คิดต่อยอดจากสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเอง จนกลายเป็นความรู้ใหม่ ที่ตนเองค้นพบ จากการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ของตน แม้อาจไม่ใช่ความรู้ใหม่ถอดด้ามก็ตาม เพราะแท้จริงแล้ว การเรียนรู้มีคุณค่าเท่ากับ การค้นพบด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับคน ๆ นั้น

หัวใจสำคัญที่ทำให้เราสามารถพัฒนาความรู้ เป็นความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การตกผลึกทางปัญญาได้นั้นคือ การพัฒนาทักษะการคิด ที่ต้องทำควบคู่กับไป เนื่องจากการคิดเป็นจะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้รับ นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งที่มีประโยชน์ได้

ผมได้นำเสนอทักษะการคิด 10 มิติ ที่จะช่วยให้เราพัฒนาทักษะการคิดอย่างครบถ้วน ในทุกมิติของชีวิต ตัวอย่างเช่น 

การคิดเชิงสร้างสรรค์ เป็นการขยายขอบเขตความคิดออกไป จากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ สู่ความคิดใหม่ เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น

การคิดเชิงประยุกต์ ความสามารถในการนำสิ่งที่มีอยู่เดิม ไปปรับใช้ประโยชน์ในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยยังคงหลักการของสิ่งเดิมไว้ 

การคิดเชิงสังเคราะห์ ความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่าง ๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

การคิดเชิงมโนทัศน์ ความสามารถในการประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้ อย่างไม่ขัดแย้ง แล้วสร้างเป็นความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องนั้น

การเป็นนักเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึบซับและต่อยอดความรู้อยู่เสมอ จะเป็นเสมือนแนวทางในการเพิ่มพูนทุนความรู้ นำไปสู่การสร้างความรู้สดใหม่ ที่สามารถนำออกมาใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้สอดคล้อง เพราะเกิดจากความเข้าใจ ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมให้การทำงานของตน และส่งผลต่อความก้าวหน้าของสังคมได้ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น