วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ดผู้นำหลักสูตรการศึกษากลุ่มวัยเกษียณอายุ

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ฮาร์วาร์ดตระหนักถึงและความสำคัญต่อการจัดการศึกษาสำหรับทุกกลุ่มคนรวมถึงผู้สูงอายุ โดยเป็นผู้นำจัดหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตมายาวนานกว่า 32 ปี ซึ่งความพยายามดังกล่าวนี้เริ่มต้น จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ที่ต้องการให้ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มคนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยเกษียณอายุ ซึ่งเป็นผู้มีคุณค่าและเป็นคลังสติปัญญาของสังคม

ความพยายามนี้ได้เริ่มต้นอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1977 โดยการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Institute for Learning in Retirement) ขึ้นมา เป็นสาขาหนึ่งในแผนกการเรียนรู้ต่อเนื่องแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard’s Division of Continuing Education) เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้อยู่ในวัยใกล้เกษียณอายุและผู้เกษียณอายุ ที่มีความสนใจและมีความต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันผ่านทางหลักสูตรเฉพาะที่จัดทำขึ้น ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวนี้ได้ถูกออกแบบ ให้มีชั้นเรียนและมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเข้าร่วมได้ตามความถนัด ความสนใจและเหมาะสมตามวัย 

ปัจจุบันสถาบันการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุแห่งฮาร์วาร์ด มีสมาชิกเข้าร่วมอยู่ทั้งหมดประมาณ 550 คน ซึ่งมีอายุช่วงระหว่าง 55 ถึง 95 ปี ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วย ผู้นำทางด้านธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ มารวมตัวกัน อาทิ กฎหมาย ทันตกรรม แพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม เทคโนโลยีชั้นสูง และศิลปกรรม ฯลฯ ซึ่งจำนวน 4 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเหล่านี้ สำหรับระยะเวลาของการเป็นสมาชิก จะมีตั้งแต่ 1 ปี จนถึง 30 ปี

นอกจากนี้ จำนวนสมาชิกทั้งหมดในปัจจุบันพบว่า เป็นสมาชิกที่จบจากฮาร์วาร์ดเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือก็เป็นสมาชิกที่จบมาจากสถาบันการศึกษาอื่น โดยจะมีสมาชิกอีกบางส่วนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองบอสตัน แต่เดินทางไกลมาจากทั่วโลก เพื่อเข้าเรียนหลักสูตรดังกล่าว

ลักษณะสำคัญบางประการของหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับวัยเกษียณอายุ อาทิ

การจัดการเรียนการสอนแบบแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน สำหรับที่นี่องค์ความรู้จากการสอน มิได้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการเป็นสมาชิกของสถาบันแห่งนี้ เนื่องด้วยทางสถาบันฯ จะมีวิธีการเรียนการสอนแบบเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มและการเรียนรู้ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน โดยที่สมาชิกสามารถคิดวางแผนออกแบบหลักสูตรและกำหนดประเด็นการศึกษาได้ด้วยตนเอง ฉะนั้น การเรียนการสอนเกือบทั้งหมดของสถาบันแห่งนี้ จึงมักจะจัดให้อยู่ในรูปแบบของการสัมมนา และการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันระหว่างสมาชิก โดยไม่มีการสอบ ไม่มีการทำการบ้าน และไม่มีการให้เกรด  
การจัดให้มีกิจกรรมนอกหลักสูตร สถาบันฯ มีการจัดให้มีกิจกรรมนอกหลักสูตรที่มีให้เลือกหลากหลายประเภทตามความสนใจ ตลอดจนเพื่อช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันให้เกิดขึ้น อาทิ การจัดให้มีการบรรยายเพิ่มเติมในวันศุกร์ การเข้าร่วมกลุ่มการอ่านและการเขียน การร้องเพลงและเล่นดนตรีด้วยกัน ตลอดจนการไปท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ร่วมกัน ซึ่งการบรรยายและจัดกิจกรรมพิเศษดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ในฮาร์วาร์ด

การจัดหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับผู้เรียน ในแต่ละเทอมฮาร์วาร์ดจะนำเสนอหลักสูตร (course) ประมาณ 50 ถึง 60 หลักสูตร ให้ผู้เรียนได้เลือก โดยครอบคลุมทั้งศิลปะศาสตร์ ประวัติศาสตร์ บทประพันธ์และบทกวี ศิลปะและสถาปัตยกรรม ดนตรี วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทั้งนี้อาจมีเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละภาคการศึกษา ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะต้องเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าว 1 ถึง 3 หลักสูตรในระหว่างภาคการศึกษา ซึ่งแต่ละปีมี 2 ภาคการศึกษา โดยแต่ละหลักสูตรจะมอบหมายงาน ให้ผู้เรียนอ่านเป็นรายสัปดาห์ แล้วนำมาอภิปรายแลกเปลี่ยนในชั้นเรียน

นอกจากนี้ การจัดชั้นเรียนในแต่ละสัปดาห์ จะใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น คือ ช่วงระหว่างสิบโมงเช้าถึงเที่ยง หรือบ่ายโมงถึงบ่ายสามโมง แล้วแต่สมาชิกจะตกลงกัน โดยในแต่ละภาคการศึกษา จะมีการเข้าชั้นเรียนเพียงแค่ 12 ถึง 13 สัปดาห์เท่านั้น

ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาไม่สูงมากนัก โดยสมาชิกแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะที่เป็นค่าลงทะเบียนจำนวน 400 ดอลล่าห์ต่อภาคการศึกษาเท่านั้น และจะไม่มีการเก็บค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ แต่ผู้เรียนออกค่าใช้จ่ายเองในการศึกษานอกสถานที่

ประยุกต์สู่การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย
ไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วเช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก ปัจจุบันมีประชากรสูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) คิดเป็นร้อยละ 10 และคาดว่าปี พ.ศ.2563 จะมีสูงขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีผู้สูงอายุกว่า 11 ล้านคน 

จากข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาวิชาสูงอายุศึกษาวิทยาพบว่า ผู้สูงอายุยังมีความต้องการศึกษาอยู่ โดยต้องการการศึกษาหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นแบบชั้นเรียน แบบเรียนด้วยตนเองและ แบบชั้นเรียนระยะสั้น และต้องการรายวิชาที่มีรูปแบบหลากหลาย ซึ่งสอดคล้องตามหลักการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ (รุ่งทิพย์ เมนะเศวต: Gerontology ศาสตร์ที่น่าสนใจในการดูแลผู้สูงอายุ)

ปัจจุบันกลับพบว่าการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในไทย เป็นสายงานหนึ่งของการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุค่อนข้างน้อย ประกอบกับแม้จะมีการให้ความรู้และจัดการเตรียมตัวก่อนการเกษียณอายุให้ข้าราชการและบุคลากรในหน่วยงานต่าง ๆ แต่เป็นเพียงระยะสั้น ซึ่งไม่เพียงพอ 

แต่อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นบทบาทมหาวิทยาลัยกับการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มคนเกษียณอายุ ซึ่งเป็นแนวโน้มหนึ่งในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้และสติปัญญาในสาขาต่าง ๆ ควรมีเวทีหรือแหล่ง ให้กลุ่มคนเหล่านี้ ได้นำเสนอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะสู่สังคม ย่อมเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้สูงอายุ สมาชิกในครอบครัวผู้สูงอายุ และสังคมส่วนรวม

บทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัยจึงควรมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาแก่ผู้สูงอายุ โดยพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ และร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และก่อเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น