วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฮาร์วาร์ด ต้นแบบ "งานวิจัยเชิงพาณิชย์"

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิจัย มีการผลิตและพัฒนานวัตกรรมงานวิจัยจำนวนมาก ที่มีคุณภาพเป็นอันดับต้นของโลก สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้มหาศาลสู่ฮาร์วาร์ด ทั้งนี้เพราะฮาร์วาร์ดมีบรรยากาศสร้างผลงานวิจัย ซึ่งทั้งครูและศิษย์ต่างได้รับแรงกระตุ้นให้แข่งขันความเก่งด้วยงานวิจัย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยโดดเด่นทางวิชาการ มีผลงานรับรองคุณภาพจำนวนไม่น้อย เห็นได้จากบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลโนเบล 75 รางวัล รางวัลพูลิตเซอร์ 15 รางวัล

อีกทั้ง ฮาร์วาร์ดได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากทั้งรัฐบาลกลางและภาคส่วนอื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ รัฐบาลท้องถิ่น บริษัท สถาบันวิจัย โรงพยาบาล ฯลฯ รวมถึงหน่วยงานในต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีได้รับเงินสนับสนุนด้านการวิจัยจำนวนมาก จากรายงานของ The Office for Sponsored Programs (OSP) ในปีงบประมาณ คศ. 2007–2008 (Sponsored Research) พบว่า ฮาร์วาร์ดได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยกว่าปีละ 600 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (ราวสองหมื่นกว่าล้านบาท) ยิ่งส่งผลสนับสนุนให้ ฮาร์วาร์ดเป็นแหล่งศูนย์รวมในการคิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลก โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านการแพทย์แขนงต่าง ๆ ชีวเคมีศาสตร์ พลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ นาโนเทคโนโลยี และสเต็มเซลล์ ฯลฯ 

ทั้งนี้ การพัฒนาและผลิตนวัตกรรมงานวิจัยของฮาร์วาร์ดนั้นมีมูลค่าสูง อีกทั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพิ่มคุณภาพการจัดการศึกษา และสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย โดยฮาร์วาร์ดมีการจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีแห่งฮาร์วาร์ด (The Harvard University Office of Technology Development: OTD) ขึ้นมาดูแลงานนวัตกรรมด้านการวิจัยขึ้นมาโดยเฉพาะ

OTD มีระบบให้บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียวที่มีความสะดวก ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ มีแนวทางให้บริการอยู่บนฐานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ การพาณิชย์ กฎหมาย และมุ่งสู่การแก้โจทย์ที่มุ่งให้ “ทุกฝ่ายต่างชนะ” หรือที่เรียกว่า “win-win” ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักในการสร้างความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมการวิจัยคือ กลุ่มบุคลากรของฮาร์วาร์ดหรือผู้ประดิษฐ์คิดค้นงานวิจัย กลุ่มภาคอุตสาหกรรม และผู้ลงทุนหรือผู้ที่ให้ทุนวิจัย

OTD มีภารกิจในการกำหนดกลยุทธ์ความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนากับกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ การหาแหล่งทุนใหม่สนับสนุนงานวิจัย การให้คำแนะนำในการกำหนดประเด็นวิจัยที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ การพัฒนางานวิจัยในห้องปฎิบัติการสู่การวิจัยเชิงพาณิชย์ การดูแลด้านสิทธิบัตร การประเมินมูลค่าผลตอบแทนจากงานวิจัย การให้คำแนะนำในงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การให้คำปรึกษาในการทำข้อตกลงต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อตกลงใหม่ที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงแต่ได้ผลตอบแทนสูง การแนะนำและช่วยเหลือด้านการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ การให้ความรู้ กฎระเบียบเงื่อนไข แบบฟอร์มที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลที่จำเป็นในการสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมการวิจัย ฯลฯ โดยผ่าน Media Center ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นมา ดำเนินงานนี้โดยเฉพาะ เน้นการนำเสนอผ่านระบบออนไลน์อย่างเป็นระบบ รวมถึงการเปิดช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมและแหล่งทุนเข้าสู่ระบบวิจัยของฮาร์วาร์ดได้โดยสะดวก โดยเฉพาะในงานวิจัยที่เป็นจุดแกร่งของฮาร์วาร์ด ฯลฯ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.otd.harvard.edu/

สะท้อนสู่มหาวิทยาลัยไทย
สภาวะการณ์ที่หลายมหาวิทยาลัย กำลังก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ การวิจัยเป็นช่องทางที่สำคัญในการหารายได้ เพื่อสามารถเลี้ยงตนเองได้ อีกทั้งงานวิจัยเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการเพิ่มคุณภาพและสร้างความน่าเชื่อถือด้านวิชาการให้แก่มหาวิทยาลัย ซึ่งผมเสนอว่า อย่างน้อย “สามปัจจัยขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนางานวิจัยเชิงพาณิชย์ในมหาวิทยาลัยไทย” คือ

ปัจจัยแรก กลไกขับเคลื่อนสำคัญในระยะแรก คือ รัฐบาลควรมีมาตรการสนับสนุนหรือมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ให้สนับสนุนทุนหรือทำวิจัยเชิงพาณิชย์ร่วมกับมหาวิทยาลัย

ปัจจัยที่สอง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญและสนับสนุนผลิตงานวิจัย ซึ่ง เมื่อปลายปี พ.ศ.2550 มีงานวิจัยเรื่อง มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ควรนำหน้าด้วยนักวิจัยที่อยู่ในอันดับต้น ๆ หรือไม่? โดย ดร.อแมนด้า เอช กูดอลล์ (Amanda H. Goodall) นักวิจัยกิตติมศักดิ์ องค์กรเพื่อการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์และสังคม (Economic and Social Research Council: ESRC) และนักวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจมหาวิทยาลัยวอร์ริค (Warwick Business School) ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของโลก มีความสัมพันธ์กับจำนวนผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พบว่า มหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกส่วนใหญ่ มีอธิการบดีที่มีผลงานวิจัยเป็นของตนเองที่มีคุณภาพ อีกทั้งผู้บริหารมีแนวคิดสนับสนุนทำวิจัย โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการทำผลงานวิชาการหรืองานวิจัย และสร้างมาตรฐานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับ

ปัจจัยที่สาม พัฒนาระบบบริหารงานวิจัยเชิงพาณิชย์ โดยมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ควรผลิตงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีการบริหารจัดการงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ที่มีส่วนทำให้สามารถสร้างรายได้สู่มหาวิทยาลัย อาจเริ่มจากงานวิจัยที่เป็นจุดแกร่งของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างจุดขายและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รักษาคุณภาพในการวิจัย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากภายในและต่างประเทศ การหาทุนสนับสนุนจากหลากหลายแหล่ง การดูแลและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการแบ่งผลประโยชน์ที่เหมาะสมน่าจูงใจ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อจูงใจให้เกิดการทุ่มเทและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น