วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ไปได้ไกล เท่าที่ใจอยากก้าว

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.com, kriengsak.com, drdancando.com

บทบาทของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม นับวันจะมีเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาพสังคมและกฎหมายที่เอื้อให้ผู้หญิงสามารถแสดงบทบาทและศักยภาพด้านต่าง ๆ ออกมาได้อย่างได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น

ถึงกระนั้น หากเปรียบเทียบในสภาพความเป็นจริง ในหลายประเทศ แม้เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เคารพในความเท่าเทียม จะพบว่า ผู้ชายยังคงมีบทบาทในอาชีพต่าง ๆ มากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ให้ความสำคัญต่อบทบาทการดูแลครอบครัว การเลี้ยงดูบุตรมากกว่าการทำงานภายนอก


ผมคิดว่า ในปัจจุบันนี้ โอกาสที่ผู้หญิงจะเลือกทางเดินไปสู่ความก้าวหน้า และความสำเร็จในระดับใดที่ตนตั้งเป้าหมายไว้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่มีความแตกต่างจากผู้ชาย แต่หากจะถามว่า “โอกาสที่ผู้หญิงจะก้าวหน้า ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?”

จากการศึกษาประวัติบุคคลสำคัญในระดับต่าง ๆ มาโดยตลอด ซึ่งจำนวนหนึ่งนั้นเป็นผู้หญิง พบว่า ปัจจัยที่ผู้หญิงจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับนำในสังคมนั้น ประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐานที่คล้าย ๆ กัน นั่นคือ การตั้งเป้าหมายและความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยว

เป็นความจริงที่ว่า “ความสำเร็จรอคอยคนเหล่านั้น ที่มุ่งมั่นและฝ่าฟันจนไปถึง” ไม่ขึ้นกับว่าเราจะเป็น หญิง หรือ ชาย หากมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการทำสิ่งใด และตามมาด้วยการตั้งเป้าหมาย วางแผน และดำเนินไปตามนั้นอย่างไม่ย่อท้อ ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

นาตาลี พอร์ตแมน (Natalie Portman) นักแสดงหญิงฝีมือเยี่ยมของฮออลีวูด เจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำปี ค.ศ.1999 และรับบทเป็นเจ้าหญิงอมิดาลา แห่งภาพยนตร์ไซไฟ เรื่อง สตาร์ วอร์ส ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่นาตาลีพูดถึงเสมอ กลับไม่ใช่การที่เธอเป็นนักแสดงดังระดับโลก แต่เป็นการเรียนที่เธอให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ

ครั้งหนึ่งเธอกล่าวว่า “ฉันไปเรียน โดยไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะทำลายอาชีพของฉัน ฉันต้องการจะเป็นคนฉลาดมากกว่าการเป็นดารา” แม้ว่าเธอจะเข้าวงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่ระหว่างนั้นเธอได้ทุ่มเทให้กับการเรียน เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศมาโดยตลอด สามารถผลิตผลงานวิชาการตั้งแต่มัธยมศึกษา เธอได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและประสบความสำเร็จในการเรียนเป็นอย่างดี

ชีวิตของนาตาลี พอร์ตแมน เป็นตัวอย่างของคนที่เดินตามเป้าหมายของตนเอง ไม่ได้ปล่อยให้กระแสสังคมดูดกลืนไปตามชื่อเสียงของความเป็นดารา ตรงข้ามกลับทำให้สังคมมองเห็นคุณค่า และความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตนเองมากกว่าเปลือกนอกตามค่านิยมในขณะนั้น

เอเลน กู๊ดแมน (Ellen Goodman) นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ เมื่อปี ค.ศ.1980 มีผลงานปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์กว่า 440 ฉบับทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของงานเขียน 6 เล่ม ที่มีชื่อเสียงคือหนังสือชื่อ “Turning Points” ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1979 งานเขียนในช่วงแรกของเธอนับว่า มีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมอเมริกัน เพราะเป็นงานเขียนชิ้นแรก ๆ ที่สะท้อนความคิดของผู้หญิงในหน้าหนังสือพิมพ์

เมื่อปี ค.ศ.2002 เธอได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ (Harvard College Women's Professional Achievement Award) ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เนื่องจากมีภาวะผู้นำ มีผลงานที่สะท้อนถึงความมีอุดมการณ์ในการทำงาน เธอได้ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทในฐานะนักข่าวมากขึ้น จากเดิมที่ผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับให้ทำหน้าที่นักข่าว เธอเป็นผู้ผลักดันประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้หญิงให้เป็นที่รู้จักและได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ในการนำเสนอข่าวตามสื่อต่าง ๆ และในอินเทอร์เน็ต

เอเลน กู๊ดแมน ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะชีวิตที่มองข้ามอุปสรรคในการทำงาน กล้าที่จะฝันและทำในสิ่งที่แตกต่าง จนสามารถเป็นนักข่าว และบรรณาธิการที่มีชื่อเสียงได้

ผู้หญิงทั้งสองคนนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ เท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่า หากผู้หญิงตั้งใจจะทำสิ่งใด ย่อมทำได้ “สำเร็จ” ได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างเพศ แต่ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของ “ใจ"”ที่ปรารถนาไปถึงเป้าหมายความสำเร็จใดในชีวิตของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น